xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯ สั่งยกคำฟ้อง-เหมืองทองอัคราฯ เฮ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - เหมืองทองอัคราไมนิ่ง พิจิตรเฮ หลังศาลปกครองพิษณุโลกสั่งยกคำร้องชาวบ้านรอบเหมืองทองที่ลงชื่อฟ้อง อีกทั้งให้คดีเป็นที่สุดคู่กรณีไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพิจิตรวันนี้ (23 ก.ค.) ว่า สำนักงานศาลปกครองพิษณุโลก โดยนายสนั่น สมตน ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองพิษณุโลก ได้ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งศาลคดีหมายเลขดำที่ ส.2/2555 ที่นายพินิจ สารภูมี กับพวกรวม 85 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนตำบลเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ผู้ฟ้องคดีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 14 คน ที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งบริษัทเหมืองแร่ทองคำ อัคราไมนิ่ง ต.เขาเจ็ดลูก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7

ผู้ฟ้องได้บรรยายฟ้องอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการทำเหมืองของ “อัคราไมนิ่ง” และการประกอบโลหกรรมผลิตทองคำของเหมืองแร่ทองคำอัคราไมนิ่ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7) ก่อให้เกิดฝุ่นควัน, มีเสียงเกินมาตรฐาน และมีน้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีอันตราย และสารพิษโลหะหนักจากการละลายแร่ที่ทิ้งไว้ในบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 1 (TSF1) ซึมลงระบบน้ำใต้ดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จึงขอให้มีคำสั่งให้เหมืองแร่ทองคำอัคราไมนิ่ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7) ระงับการสร้างบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) เพื่อรองรับการขยายโรงงานดังกล่าว

ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุว่า การจะสร้างบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 นี้ทับทางสาธารณประโยชน์สายนาตาหวาย-อ่างหินที่ชาวบ้านใช้สัญจรไป-มา จึงเป็นเหตุให้เดือดร้อนและได้รวมตัวกันมาฟ้องศาลปกครองดังกล่าว โดยจะขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองและขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำอัครา ไมนิ่ง

หลังจากมีการนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 55 ศาลก็ได้มีการไต่สวนฉุกเฉินและเรียกสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งมีรายงานในหนังสือแจ้งคำสั่งศาลที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีนำมาเปิดเผยในที่สาธารณะว่า จากคำฟ้องดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีได้มีการขอยื่นเปลี่ยนแผนผังการทำโครงการทำเหมือง พร้อมกับขอเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่ตั้งของบ่อเก็บกากแร่ที่ 2 ต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน มีความถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิศวกรรมและได้มาตรฐาน มีการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงได้รับการอนุญาตจากทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งการตรวจฝุ่นละอองที่ก่อนหน้านี้ก็มี น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีในศาลปกครองพิษณุโลกหมายเลขแดงที่ 163/2555 ซึ่งศาลก็ได้มีผลการศึกษาที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เป็นผู้มาทำวิจัยผลกระทบครอบคลุมในทุกมิติ จึงได้นำมาเทียบเคียงกับคำร้องของผู้ฟ้องที่ชาวบ้านฟ้องว่า เหมืองแร่ทองคำ อัคราไมนิ่งจะสร้างบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 เพื่อรองรับกิจการในอนาคต

ศาลก็ได้สอบข้อเท็จจริงกรณีการถือครองที่ดินพบว่าในโฉนดที่ดินที่ บ.อัครา ไมนิ่ง ซื้อที่ดินมาถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ปรากฏว่ามีทางสาธารณประโยชน์พาดผ่านทั้งใน น.ส.3 ก. ฉบับเดิม และเมื่อออกเป็นโฉนดที่ดินแล้ว เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ทำการปิดกั้นด้วยการลงเสาปูนและล้อมลวดหนาม ซึ่งไม่มีผู้ใช้เส้นทาง ที่เดิมเป็นทางเกวียนที่เจ้าของที่ดินสร้างขึ้นและใช้ประโยชน์เอง เส้นทางที่ร้องมานั้นถูกปิดตายมา 8 ปีแล้ว อีกทั้งยังเป็นทางตันที่ไม่ได้ไปเชื่อมต่อกับทางหลวงสาย 1301 ทางสาธารณะสายนี้ จึงไม่ใช่เส้นทางจำเป็นแต่อย่างใด

จึงสรุปได้ว่าที่ดินโดยรอบที่จะทำบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) เป็นกรรมสิทธิ์ของ บ.เหมืองแร่ทองคำอัคราไมนิ่ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7) ดังนั้นการที่ชาวบ้านฟ้องจะให้เปิดทาง เป็นการให้สิทธิแก่ชาวบ้านเกินกว่าสิทธิที่มีอยู่ โดยไม่มีความจำเป็นใดเลย

ศาลปกครองบรรยายในคำสั่งเพิ่มเติมว่า ประการสำคัญชาวบ้านสามารถใช้เส้นทางอื่นๆ ในการสัญจรๆ ได้เป็นปกติอยู่แล้วดังที่ได้ใช้มาอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งศาลปกครองดูความจริงเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน 85 คนที่ฟ้องคดี ต่อมาเปลี่ยนแปลงผู้ฟ้องคดีเหลือเพียง 73 คน ว่ามีที่อยู่อาศัยที่บริเวณหมู่ 3, 7, 9 ซึ่งอยู่คนละฝั่งถนนกับพื้นที่ที่อ้างอิงฟ้องว่าได้รับผลกระทบเดือดร้อน ซึ่งหากประสงค์จะไปติดต่อยังบ้านนิคม หลังที่ดินแปลงดังกล่าวย่อมสามารถใช้เส้นทางอื่นๆ ได้ อีกทั้งเส้นทางอื่นๆ ปัจจุบัน อบต.เขาเจ็ดลูก และทางราชการก็ได้ทำเป็นถนนคอนกรีตใช้ได้อย่างสะดวกสบาย จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องไปใช้ทางเกวียนที่เป็นทางตัน และถูกปิดตายมากว่า 8 ปีแล้ว

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดี คือชาวบ้านที่ฟ้องร้องเรื่องเสียงดัง ฝุ่นละออง มลพิษ สารตกค้างในดิน ในบ่อน้ำ ศาลปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน ศาลปกครองได้เปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงไปเทียบเคียงกับประเด็นที่มีความสอดคล้องกันกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองในคดีหมายเลขแดงที่ 163/2555 ที่ น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง เป็นผู้ฟ้องคดีในคราวนั้น ซึ่งศาลปกครองพิษณุโลกได้พิจารณาให้ยกคำฟ้องในประเด็นนี้ไปแล้วด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในคดีนี้จึงมิต้องหยิบยกคำฟ้องซ้ำมาหาหลักฐานหรือพิสูจน์อีกต่อไป เนื่องจากไม่มีประเด็นหรือหลักฐานใหม่เพิ่มเติม

ศาลปกครองพิษณุโลกจึงได้พิจารณามีคำสั่งยกคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดี

อีกทั้งในหนังสือแจ้งคำสั่งศาลที่ลง (ธ.23) คดีหมายเลขดำที่ ส.2/2555 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ก็มีหมายเหตุว่า คำสั่งยกคำขอ กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีให้เป็นที่สุด คู่กรณีไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้





กำลังโหลดความคิดเห็น