ศูนย์ข่าวขอนแก่น - แบงก์ชาติ อีสานแถลงภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 2 ยังคงทรงตัวจากไตรมาสแรก แต่การอุปโภคบริโภคขยายตัว โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์พุ่ง ทั้งผู้ค้ากลับมาสามารถส่งมอบรถได้มากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง คาดแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากนโยบายรถคันแรก การย้ายฐานผลิตโรงงานจากภาคกลางเข้ามาในอีสาน
วันนี้ (6 ส.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 โดยมีดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.แถลงข่าวเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2555 ณ ห้องประชุม 301 ธปท.สภอ. อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ทรงตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามรายได้จากภาคเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนตามโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร รวมทั้งมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ของภาครัฐ ทำให้การซื้อรถยนต์ขยายตัว ทั้งบริษัทจำหน่ายรถยนต์ สามารถส่งมอบรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น ทำให้ภาคการค้าเร่งตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ที่เร่งตัวสูงมาก
อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนกลับชะลอลงจากไตรมาสก่อน แต่ยังมีนักลงทุนที่ยังให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณทรงตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.89 ชะลอลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งอาหารสำเร็จรูป ผักสด และราคาน้ำมัน
ดร.พิชิตกล่าวต่อว่า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 สะท้อนจากภาคการค้าส่งและค้าปลีกที่ขยายตัวดีโดยเฉพาะยานยนต์ เนื่องจากรายได้เกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามมาตรการสนับสนุนของโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับตัวดีขึ้น แต่ราคามันสำปะหลังและยางพารากลับลดลง
ปัจจัยต่อนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นการซื้อของประชาชน และบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์มีการส่งมอบรถยนต์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นไตรมาสเป็นต้นมา สอดคล้องกับภาคการค้าที่เร่งตัวจากไตรมาสก่อน โดยดัชนีการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.5 ตามการขยายตัวของการค้าส่งและค้าปลีก โดยเฉพาะการค้าในหมวดยานยนต์ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 20.5
ขณะที่การลงทุนในภาคชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนไตรมาสนี้ชะลอลง สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองที่ชะลอลงโดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.4 ตามการชะลอลงตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่วนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัว
ทั้งนี้ นักลงทุนยังให้ความสนใจจะลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป วัดจากเงินทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนกว่าเท่าตัว ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐทรงตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้งบประมาณบางส่วนเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.กล่าวถึงเงินฝากธนาคารพาณิชย์ว่า มียอดคงค้าง 543.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากการแข่งขันกันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ สำหรับสินเชื่อคงค้าง 583.1 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล สินเชื่อขายปลีกขายส่ง สินเชื่อตัวกลางทางการเงิน สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างเป็นสำคัญ
ในด้านเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจมียอดคงค้าง 300.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 จากระยะเดียวกันของปีก่อน และสินเชื่อคงค้าง 820.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล รองลงมาเป็นสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลาง
ขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.89 ชะลอจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.93 ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผักสด และหมวดน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ชะลอจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.44
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 3 ปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรป แต่ยังมีปัจจัยบวกเกิดขึ้น ทั้งในด้านการบริโภคจะยังขยายตัว ที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการรัฐที่รถยนต์คันแรกยังทยอยส่งมอบและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว การย้ายฐานผลิตของโรงงานจากภาคกลางเข้ามายังอีสาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่มีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกยางพารามากขึ้น