xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้มเกษตรกรพะเยารับระบบตลาดข้อตกลง ตั้งโต๊ะซื้อ-ขายแก้ลำไยราคาร่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พะเยา - ค้าภายในเมืองกว๊านฯ เปิดเวทีเจรจาซื้อขายลำไยแก้ไขปัญหาราคาร่วง และระบายผลผลิต ผ่านระบบตลาดข้อตกลงฯ เป็นธรรมทั้งคนซื้อ-คนขาย พร้อมให้ความรู้สู่เวที AEC

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่ห้องเบญจรงค์ โรงแรมพะเยาเกทเวย์ อ.เมืองพะเยา สำนักงานการค้าภายในจังหวัดได้มีการจัดอบรมเรื่อง การใช้ประโยชน์จากระบบตลาดข้อตกลง ตามสโลแกน ทำสัญญาข้อตกลง ซื้อขายมั่นคง แน่นอนมั่นใจ โดยมีนายกาจพล เอิบสุขสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานในพิธี

นายพิพัฒน์พงษ์ หลวงสุภา การค้าภายในจังหวัดพะเยา กล่าวว่า กรมการค้าภายใน มีนโยบายส่งเสริมให้มีตลาดข้อตกลงขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีทางเลือกในการซื้อขายผลผลิตผ่านระบบตลาดข้อตกลง โดยทำสัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายในที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด อันเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและการผลิต ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างเป็นรูปธรรม เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนจากการจำหน่ายผลผลิต ช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาผลผลิตการเกษตรในอนาคต ในขณะเดียวกันผู้รับซื้อได้รับผลผลิตในปริมาณและคุณภาพตามความต้องการ และทราบราคาที่แน่นอน ทำให้สามารถวางแผนการผลิต การตลาดได้อย่างมีระบบมากขึ้น

ดังนั้น สำนักงานการค้าภายในจังหวัดพะเยาจึงได้จัดการอบรมเรื่องการใช้ประโยชน์จากระบบตลาดข้อตกลงฯ ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเกษตรเกี่ยวกับระบบตลาดข้อตกลง และส่งเสริมให้มีการซื้อขายผลผลิตผ่านระบบตลาดข้อตกลง โดยใช้สัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายในจังหวัดพะเยา

และในการอบรมครั้งนี้ยังมีการเจรจาซื้อขายลำไยระหว่างสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กับผู้รวบรวม และผู้แปรรูปด้วย รวมถึงการบรรยายให้ความรู้เรื่องระบบตลาดข้อตกลง โดยใช้สัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายใน โดยผู้แทนกรมการค้าภายใน, การผลิตลำไยให้ได้คุณภาพ โดยผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยผู้แทนสำนักงานการค้าต่างประเทศเขต 6 เชียงราย และการรักษาสิทธิของตนเองด้านชั่งตวงวัด โดยผู้แทนสำนักงานสาขาชั่งตวงวัด เขต 1-2 ลำปาง

ด้านนายกาจพล เอิบสุขสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ในอนาคตที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการค้าขายที่ไร้พรหมแดน ค้าขายเสรี การค้าขายมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นประเทศในแถบเอเชีย เอื้อต่อการลงทุน

แต่ประเทศไทยประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานสูง ซึ่งไม่เอื้อต่อ AEC เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว และพม่า ที่มีสิ่งแวดล้อมและค่าจ้างแรงงานเหมาะสมที่จะตั้งเป็นฐานการผลิต

แต่อย่างไรก็ตาม ไทยก็สามารถที่จะเป็นครัวโลกได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้ต้องมีการปรับตัวด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาผลผลิตด้านคุณภาพให้ได้มาตรฐาน หากเราถอยหลังก็เสียเปรียบประเทศอื่น ซึ่งภาครัฐจะเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกร แต่ตัวเกษตรกรก็ต้องตื่นตัวพัฒนาคุณภาพรองรับ AEC เชื่อว่าจะสามารถสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น