xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นของล้น! รัฐเร่งพัฒนาลำไยได้มาตรฐานมุ่งเป้าส่งออกต่างประเทศ-เอกชนชี้ตลาดสดใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ภาครัฐเดินหน้าพัฒนามาตรฐานลำไยหวังเน้นส่งออก พร้อมดึงผู้นำเข้า-ส่งออกขึ้นโต๊ะเจรจา หลังคาดปีนี้ปริมาณลำไยทะลัก เชื่อตลาดยังต้องการเยอะแต่ของต้องมีคุณภาพ ด้านเอกชนระบุตลาดลำไยสดใส ผู้บริโภคถามหาของดีส่งผลแข่งขันกันดุเดือด เตือนจับตาพ่อค้าจีนเข้ามารับซื้อเองในประเทศอาจทำผู้รับซื้อรายย่อย-ระดับกลางหาย

วันนี้ (18 ก.ค.) ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานโครงการคณะผู้แทนการค้าอาเซียนและจีนเยือนไทยขึ้น โดยมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี

โครงการดังกล่าวซึ่งอยู่ภายใต้โครงการปรับปรุงคุณภาพและบริหารจัดการลำไยให้ได้มาตรฐานการส่งออก จัดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวทางการปรับปรุงคุณภาพลำไยของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานส่งออกให้ผู้ส่งออก นำเข้า และเกษตรกรได้ทราบ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกผลไม้ของไทยและผู้นำเข้าผลไม้จากประเทศในอาเซียนและจีนได้พบปะและเจรจาการค้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ผลผลิตลำไยที่คาดว่าจะมีจำนวนมากในปีนี้

โดยการจัดงานในครั้งนี้มีการนำผู้ส่งออกผลไม้จากไทย และผู้นำเข้าผลไม้จากจีนและอินโดนีเซียมาร่วมงาน ซึ่งภายในงานนอกจากทั้งสองฝ่ายจะได้ทำการเจรจาซื้อขายสินค้ากันแล้ว ยังมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการ ส่งเสริม และเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในการพัฒนาคุณภาพลำไยให้ได้มาตรฐานส่งออกของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำกลุ่มผู้ส่งออกเข้าเยี่ยมชมสถานที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นสวนลำไยที่ได้มาตรฐาน GAP เป็นต้น

นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคเหนือ (เชียงใหม่) กล่าวถึงโครงการปรับปรุงคุณภาพและบริหารจัดการลำไยให้ได้มาตรฐานการส่งออกว่า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแล เพื่อเตรียมตัวในการแก้ไขปัญหาราคาลำไยที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีราคาลดต่ำลง เนื่องจากในปีนี้คาดว่าปริมาณผลผลิตลำไยที่เข้าสู่ตลาดจะมีเป็นจำนวนมาก

โดยคาดว่าจะเพิ่มจากปีที่ผ่านมาอีกร้อยละ 40 ขณะเดียวกันก็จะหาทางส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถผลิตลำไยที่ได้มาตรฐานการส่งออกเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตด้วย

นางขวัญนภากล่าวต่อว่า เป้าหมายเบื้องต้นของโครงการนี้จะให้ความสำคัญใน 2 ส่วน ได้แก่การพัฒนาให้ผลผลิตลำไยที่ได้มีขนาดใหญ่ คุณภาพดี เนื่องจากทิศทางความต้องการของตลาดในปัจจุบันต้องการลำไยที่มีขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งได้แก่การดูแลในเรื่องการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่จะทำอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้มีสารเคมีตกค้าง ซึ่งในส่วนนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการพัฒนาโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้นแบบตามมาตรฐานส่งออกเพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ไปใช้ในการก่อสร้างโรงรมในชุมชนของตนเอง

สำหรับการนำผู้ส่งออกและนำเข้าผลไม้มาทำการเจรจาการค้าในงานนี้นั้น นางขวัญนภาระบุว่าถือเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทย เพราะผู้นำเข้าที่เดินทางมาในครั้งนี้ถือเป็นรายใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในตลาดการซื้อขายลำไยทั้งในประเทศจีนและอินโดนีเซียซึ่งในปัจจุบันถือเป็นตลาดที่สำคัญของลำไยจากประเทศไทย

ขณะที่สถานการณ์การส่งออกลำไยของไทยนั้น ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกลำไยไปยังต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 107 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกทั้งปีจะมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีจีน อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นตลาดหลักที่สำคัญ ส่วนราคาขายลำไยในปัจจุบันพบว่าลำไยเกรด A มีราคาซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่น่าพอใจ

ด้านนายถิระนันท์ ภัทรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮะเฮง อินเตอร์เฟรช จำกัด กล่าวถึงการส่งออกลำไยไปจำหน่ายในต่างประเทศว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาถือว่าตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของบริษัททำการส่งออกลำไยตลอดทั้งปี จำนวนปีละประมาณ 1.25 หมื่นตัน ผ่านการจัดหาลำไยจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก รวมทั้งจากพื้นที่สวนที่ทางบริษัทเป็นผู้ดำเนินการผลิตเองด้วยอีกส่วนหนึ่ง โดยลำไยทั้งหมดที่บริษัทจำหน่ายจะส่งไปจีนและอินโดนีเซียประเทศละ 40% ส่วนที่เหลืออีก 20% จะเป็นการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ

นายถิระนันท์กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าเปลี่ยนไป กล่าวคือต้องการลำไยที่มีขนาดใหญ่และคุณภาพดีขึ้น อย่างเช่นตลาดในประเทศจีนที่ต้องการลำไยที่มีผิวขาวสวยและขนาดสม่ำเสมอเท่ากันทั้งตะกร้า เป็นต้น ส่งผลให้การแข่งขันของผู้ประกอบการเป็นไปอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีพ่อค้าจากจีนเข้ามารับซื้อลำไยโดยตรงในประเทศผ่านบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อคนไทยเป็นตัวแทน ซึ่งคาดว่าสัดส่วนของพ่อค้าจากจีนที่เข้ามาซื้อลำไยเองโดยตรงอยู่ที่ 30% ของผู้รับซื้อในตลาดทั้งหมด

นายถิระนันท์กล่าวต่อไปว่า แม้ในด้านหนึ่งการเข้ามารับซื้อของพ่อค้าจากจีนจะช่วยให้ตลาดคึกคักมากขึ้น แต่ในระยะยาวจะส่งผลให้ผู้รับซื้อของไทยโดยเฉพาะรายย่อยและขนาดกลางไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ขณะเดียวกันการเข้ามารับซื้อของพ่อค้าในลักษณะนี้มักเป็นการเข้ามาแบบฉาบฉวยมากกว่าจะรับซื้ออย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ หากในอนาคตกลุ่มพ่อค้าเหล่านี้สามารถรวมตัวกันและกดราคารับซื้อก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทันที ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ได้มีการนำเสนอไปยังภาครัฐเพื่อให้หาทางแก้ไขแล้ว

นายถิระนันท์ ภัทรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮะเฮง อินเตอร์เฟรช จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น