xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กก.ตามงานป้องกันน้ำท่วมถามกลางวงประชุมพิษณุโลก “ปีนี้เอาอยู่หรือไม่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิษณุโลก - คณะอนุกรรมการติดตามป้องกันปัญหาอุทกภัยพื้นที่กลางน้ำ ถามกลางวงประชุมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเมืองสองแคว “ปีนี้ เอาอยู่หรือไม่” ผอ.ชป.ยืนยัน หากพายุเข้า 3 ลูกรับมือได้ แต่ถ้าเกิน 3 ลูก “ก็หนักอยู่” พร้อมบอกสื่อ คำว่า “บางระกำโมเดล” ไม่ใช่งานก่อสร้าง แต่เป็นแผนงานบริหาร

วันนี้ (11 ก.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก พล.ต.เทอดศักดิ์ ชัยสิทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กลางน้ำ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และสุโขทัย เข้าร่วมรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยและการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมอย่างบูรณาการ ติดตามความก้าวหน้าการป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กลางน้ำในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพิษณุโลกรายงานความก้าวหน้าโครงการต่างๆ และการเตรียมความพร้อมป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยปี 2555

ซึ่งการเดินทางติดตามความคืบหน้างานป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กลางน้ำของคณะอนุกรรมการฯ เป็นการติดตามความก้าวหน้าของงานตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะงานขุดลอกบึงขี้แร้ง ต่อไปที่คลองเมม และประตูระบายน้ำบางแก้ว อ.บางระกำ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยลงพื้นที่ตรวจงานเมื่อไม่นานมานี้

พล.ต.เทอดศักดิ์เปิดเผยว่า ตนมาติดตามความคืบหน้า เพราะรัฐมนตรีได้สั่งและกำชับลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของงานป้องกันและการบริหารจัดการน้ำเรื่องน้ำท่วม จะต้องเตรียมการไม่ให้เกิดมหาอุทกภัยเหมือนปี 2554 ที่ผ่านมา ควรเร่งงานโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ตามที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่คณะอนุกรรมการฯ ได้รับฟังการบรรยายสรุปจากหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เอ่ยปากในที่ประชุมว่า “ปีนี้ จะเอาอยู่หรือไม่”

ขณะที่นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก บอกว่า ถ้าปีนี้มีมรสุมจำนวน 3 ลูกตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุไว้เบื้องต้นนั้นก็คิดว่าเอาอยู่ แต่ถ้ามากกว่า 3 ลูกก็คงหนักอยู่ ส่วนงานชลประทานที่กำลังทำอยู่คืบหน้าไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และกำลังระดมเครื่องจักรกลในการขุดลอกคลองบางแก้ว ขุดลอกแก้มลิงบึงขี้แร้ง คลองเกตุ คลองกล่ำ คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้คงไม่เสร็จ แต่คาดว่าสิงหาคม 55 น่าจะแล้วเสร็จ สามารถรองรับการระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมได้

“ขอให้สื่อมวลชนทำความเข้าใจกับคำว่า บางระกำโมเดล ด้วยว่าไม่ใช่งานก่อสร้าง บางระกำโมเดลคือแผนงานโครงการป้องกันน้ำท่วม เพราะสื่อควรทำหน้าที่ไปบอกประชาชน ไม่ใช่ว่าน้ำท่วมแค่นิดน้อยก็บอกว่าน้ำท่วมบางระกำ ทั้งๆ ที่น้ำท่วมบางระกำคือวิถีชีวิตของเขา”หนึ่งในคณะกรรมการฯ เอ่ยในที่ประชุม

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า หลังบรรยายสรุปช่วงเช้า คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการมีกำหนดลงพื้นที่ดูงานขุดลอกบึงขี้แร้ง อ.บางระกำ เป็นอันดับแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น