xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.เขต 15 ระดม จนท.ซ้อมใหญ่ รับมือรอยเลื่อนแม่จันเขย่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 ระดมเจ้าหน้าที่ 4 จว.ซ้อมใหญ่แผนรับมือรอยเลื่อนแม่จันเขย่า สมมติเหตุแผ่นดินไหว 6 ริกเตอร์ ทำอาคารใหญ่-บ้านเรือนประชาชนเสียหาย แถมมีคนเจ็บ-ตายเพียบ ก่อนสรุปผลการฝึกซ้อมพรุ่งนี้ (12 ก.ค.)

วันนี้ (11 ก.ค.) ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 15 ได้จัดให้มีพิธีเปิดโครงการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับกลุ่มจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบคือ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ และ จ.น่าน ณ ห้องประชุมโรงแรมแสนภูเพลส อ.เมือง จ.เชียงราย โดยรวมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ประกอบไปด้วย หน่วยบรรเทาสาธารณภัย โรงพยาบาล ทหาร ตำรวจ ฯลฯ เข้าร่วมประมาณ 300 คน มีนายสุรชัย ลิ้นทอง รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธาน และนายธวัช ชัยธิมา รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ปภ.เขต 15 นำกล่าวรายงาน

โดยมีกำหนดการฝึกซ้อมกำหนดเหตุการณ์สมมติว่าเกิดเหตุวันที่ 10 ก.ค. 55 และมีการซ้อมใหญ่รวมทั้งสรุปเหตุการณ์วันที่ 12 ก.ค. 55

ซึ่งการฝึกซ้อมดังกล่าว ได้สมมติสถานการณ์ว่าเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงตรงรอยเลื่อนแม่จันที่พาดผ่าน อ.แม่จัน-เชียงแสน และเป็นรอยเลื่อนใหญ่ที่เคยส่งผลกระทบในอดีต เกิดการเคลื่อนตัวขึ้นมาอีกครั้ง วัดแรงสั่นสะเทือนตามมาตรวัดริกเตอร์ได้ 6 ริกเตอร์ จนเกิดผลกระทบทำให้ตึก อาคารบ้านเรือนประชาชนเสียหายเป็นบริเวณกว้าง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยสมมติว่าเหตุเกิดวันที่ 10 ก.ค. 55 และเกิดการสั่นสะเทือนตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อกอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง จนทำให้อาคารโรงพยาบาลในตัวเมือง โรงแรม ฯลฯ ทรุดตัวเสียหาย

จากนั้นทางศูนย์ ปภ.เขต 15 จึงเข้าสำรวจความเสียหายและจัดเตรียมกำลังพล วัสดุอุปกรณ์ ประสานฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมช่วยเหลือประชาชน ใช้สถานที่ฝึกซ้อมที่โรงแรมหลายแห่งใน จ.เชียงราย,โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, โรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊ค ฯลฯ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ศาลากลาง จ.เชียงราย หรือพื้นที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร เชิงสะพานแม่ฟ้าหลวง อ.เมือง

นายสุรชัยกล่าวว่า การฝึกซ้อมรับภัยธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ แม้ปกติจะมีแผนเผชิญเหตุกันอยู่แล้ว แต่หากไม่นำแผนมาฝึกซ้อมก็จะเกิดปัญหาข้อขัดข้องขึ้นมาได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง และส่งผลกระทบไปถึงผู้ประสบภัยที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือในที่สุด

สำหรับภัยที่เลือกฝึกปฏิบัติคือภัยแผ่นดินไหวก็ถือว่าเหมาะสมกับพื้นที่ เพราะภาคเหนือเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์รุนแรง แต่ในอดีตก็มีรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสั่นไหวรุนแรงมาแล้ว รวมทั้งพื้นที่ 4 จังหวัดที่ร่วมฝึกซ้อมก็อยู่ในเขตที่อาจจะได้รับผลกระทบหากเกิดแผ่นดินไหวร่วมกันพอดี

ขณะที่รายงานจากกรมทรัพยากรธรณีระบุว่า ปัจจุบันภาคเหนือมีรอยเลื่อนใหญ่ๆ จำนวน 4 รอย คือ รอยเลื่อนเชียงแสน รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง และรอยเลื่อนมูลาว

แต่หากรวมรอยเลื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า และ สปป.ลาว ที่อยู่ติดกันก็จะพบว่ามีรอยเลื่อนขนาดใหญ่เรียกว่ารอยเลื่อนสะแกง หรือสะเกียงอยู่ด้วย โดยผ่านกลางเมืองปิ่นมะนา ในอดีตเคยไหวมากถึง 7 ริกเตอร์ และทางตอนเหนือมีรอยเลื่อนน้ำมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบรุนแรงเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2554 จนทำให้รัฐฉานของพม่าเสียหายหนัก มีบ้านเรือนพัง คนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีชาวบ้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เสียชีวิตด้วย 1 ราย

ส่วนฝั่งตะวันออกทาง สปป.ลาวมีรอยเลื่อนน้ำมาที่ยังแตกแขนงออกเป็นหลายรอย ซึ่งก็คือรอยเลื่อนแม่จัน แม่อิง ฯลฯ นั่นเอง

สำหรับรอยเลื่อนแม่จันยาวที่สุด โดยมีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร ตั้งแต่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ทอดยาวผ่านบ้านกิ่วสะไต-บ่อน้ำพุร้อนป่าตึง-แม่จัน-เชียงแสน-สปป.ลาว โดยสันนิษฐานว่าเคยไหวแรงจนทำให้เกิดตำนานเวียงหนองหล่มหรือเมืองในอาณาจักรโยนกนครล่มลงเมื่อนับพันปีก่อน

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีได้ลงพื้นที่ศึกษาพื้นดินที่หมู่บ้านโป่งปากแขม อ.แม่จัน พบว่าใต้ดินมีหลักฐานระบุว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 1,500 ล้านปีก่อน วัดความแรงได้ถึง 6.6 ริกเตอร์จนทำให้ชั้นดินฉีกขาด จากนั้นก็ไม่เคยเคลื่อนตัวอีกเลย




กำลังโหลดความคิดเห็น