xs
xsm
sm
md
lg

ราชพฤกษ์เพาะพันธุ์ปทุมมากว่า 1 แสนหัว เตรียมจัด “ทิวลิปแห่งสยาม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - อุทยานราชพฤกษ์จัดเต็ม เพาะ “ปทุมมา” หลากหลายพันธุ์รวมกว่า 1 แสนหัว เตรียมนำออกแสดงในงาน “เทศกาลปทุมมา : ทิวลิปแห่งสยาม” ในเดือนสิงหาคมนี้ ดึงคนเที่ยวชมทุ่งทิวลิปแห่งสยาม

นางทัศนีย์ ศรีมงคล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ กล่าวว่า อุทยานหลวงราชพฤกษ์เตรียมจัดงาน “เทศกาลปทุมมา : ทิวลิปแห่งสยาม” (Curcuma : Siam Tulip Festival) ขึ้นระหว่างวันที่ 9-31 ส.ค. 55 นี้ โดยได้เริ่มทำการเพาะหัวพันธุ์ปทุมมาหลากหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์เชียงใหม่พิงค์ ขาวดอยตุง สโนว์ไวท์ แดงระฆัง ลัดดาวัลย์ เชอร์รีพรินเซส และบัวลาย มากกว่า 1 แสนหัว ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อนำมาจัดแสดงในงาน

งานดังกล่าวส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักและเห็นความสำคัญของ “ปทุมมา” ซึ่งเป็นไม้ดอกเมืองร้อน ออกดอกในช่วงฤดูฝน มีความสวยงามและมีลักษณะดอกคล้ายดอกทิวลิป จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ทิวลิปแห่งสยาม หรือสยามทิวลิป (Siam Tulip) ซึ่งไทยเป็นแหล่งผลิตหัวพันธุ์ปทุมมาส่งออกไปยังต่างประเทศ เป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญในการส่งออกสู่ตลาดโลกสูงเป็นอันดับ 2 ของไทย รองจากกล้วยไม้ มีแหล่งผลิตหัวพันธุ์ที่สำคัญอยู่ในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และพะเยา

ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์กล่าวต่อว่า นอกจากปทุมมาจะให้ความสวยงามแล้วยังมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการด้วย เพราะช่วยในเรื่องการขับถ่าย ชาวบ้านนิยมนำหน่ออ่อน ดอกอ่อนและดอกแก่ ซึ่งสามารถบริโภคแบบสดได้มารับประทานเป็นผักเคียงลาบ ก้อย ส้มตำ ส่วนดอกอ่อนนำมาลวกรับประทานกับน้ำพริก หรือนำมาแกงได้ สำหรับดอกอ่อนหัวอ่อนของกระเจียวแดงนั้นมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ต้มกับน้ำมีสรรพคุณขับลมและสมานแผล แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด”

ทั้งนี้ ระหว่างที่มีการจัดงานนั้น นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมความสวยงามของทุ่งปทุมมาที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ พร้อมชมการจัดสวนประดับด้วยปทุมมาหลากหลายสายพันธุ์ การประกวดปทุมมาสายพันธุ์ต่างๆ การจัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ทิศทางการส่งออกหัวพันธุ์ และปทุมมาตัดดอกในตลาดโลก”

ยังมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมจัดตกแต่งสวนด้วยปทุมมาและจัดนิทรรศการให้ความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งกิจกรรมให้ความรู้แก่เยาวชนและเกษตรกรด้วย

ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5311-4110-5 หรือทางเว็บไซต์ www.royalparkrajapruek.org




กำลังโหลดความคิดเห็น