xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนทั้งไทย-พม่า ร่วม Focus Group ดันเมียวดี-แม่สอด เมืองคู่แฝด แน่นเวที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - ตัวแทนภาครัฐ-เอกชนทั้งไทย พม่า ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมประชุม Focus Group ทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม ดันเมืองคู่แฝดแม่สอด-เมียวดี อย่างคับคั่ง

วันนี้ (18 มิ.ย.55) ที่ห้องประชุมสบเมย โรงแรมเซ็นทาร่าแม่สอดฮิลล์รีสอร์ท เขตเทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางมาร่วมการประชุมกลุ่มย่อย Focus Group โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมกับเมืองคู่แฝด (ไทย-พม่า-ลาว และกัมพูชา) เพื่อหารือถึงการจัดตั้งเมืองคู่แฝด(Sister Cities)ทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม แม่สอด-เมียวดี เป็นโมเดลนำร่องเมืองเศรษฐกิจชายแดนบนระเบียงเศรษฐกิจอิสเวตส์อิโคโนมิคคอริดอร์ (EWEC)

ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน ประกอบด้วยฝ่ายปกครอง-ด่านศุลกากร แม่สอด-ด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก-พาณิชย์จังหวัด-อุตสาหกรรมจังหวัด-ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด-ชุดประสานงานชายแดนไทย-พม่า ประจำพื้นที่ที่ 3 แม่สอด-สภ.แม่สอด-ทหาร-ตำรวจท่องเที่ยว-นายบรรพต ก่อเกียรติ เจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก-นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ฯลฯ

นอกจากนี้ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ได้ยังเชิญนางตินติน เมี๊ยะ ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี และคณะนักธุรกิจพม่าเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมร่วมเมืองคู่แฝดชายแดนแม่สอด-เมียวดี
 
ทั้งนี้ โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมกับเมืองคู่แฝดไทย-พม่า-ลาวและกัมพูชา มีการทำ FOCUS GROUP 7 สาขา ประกอบด้วย 1.ด้านการค้าและการลงทุน 2.ด้านความร่วมมือทางการเกษตร 3.ด้านอุตสาหกรรมและพลังงาน 4.การเชื่อมโยงระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ 5.ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 6.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ 7.ความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยทุกฝ่ายได้มีการระดมแนวทาง-มาตรการ-กลยุทธ์และแผนปฏิบัติการพัฒนาร่วมของแม่สอด-เมียวดี โดยการเพิ่มฐานการผลิตในการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุน ฯลฯ

รายงานข่าวแจ้งว่า เมืองคู่แฝด Sister Cities แม่สอด-เมียวดี มีพื้นที่รวมกันกว่า 4,000 ตาราง กม. ประชากรรวมกันกว่า 170,000 คน มีวัตถุดิบ เช่น ข้าว-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ไม้ดอก -อัญมณี-ยางพารา-ไม้แปรรูป-สินค้าประมงและอาหารทะเล ปัจจุบันมีมูลค่าการค้าชายแดนปีละไม่น้อยกว่า 35,000 ล้านบาท มีการเชื่อมโยงเส้นทาง 85 แม่สอด-เมียวดีกอกาเรก-ผาอันและเมืองท่าตอน - ไปรวมกับเส้นทางหมายเลข 8 จากพะยายี-ตะโถ่ง-มะละแหม่ง-เยห์-ทวาย จนถึงมะริด และมีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากมาย เช่น เครื่องนุ่งห่ม,ผักผลไม้,ไม้เฟอร์นิเจอร์,อัญมณีเครื่องประดับ,การประมง,สิ่งทอ,อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป,ผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์,สินค้าอุปโภค-บริโภคและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น