xs
xsm
sm
md
lg

โครงการเก็บกู้ระเบิดพื้นที่สระแก้ว ตาม “อนุสัญญาออตตาวา” ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชุดินทร  คงศักดิ์  รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ  พลตรีไสยสิทธิ์  บุณยรัตพันธุ์ รอง หน.ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ชี้แจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ
สระแก้ว - โครงการการเก็บกู้ระเบิดในพื้นที่สระแก้ว ตาม “อนุสัญญาออตตาวา” ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยจะแล้วเสร็จในปี 2561

วันนี้ (7 มิ.ย.) นายชุดินทร คงศักดิ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ พล.ต.ไสยสิทธิ์ บุณยรัตพันธุ์ รอง หน.ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ นำคณะทูตของกลุ่มอาเซียน เข้าตรวจเยี่ยมศูนย์ขาเทียม ณ โรงพยาบาลอรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยมี พ.อ.ธราพงษ์ มะละคำ รองผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1, นพ.ปัญญา สัตยาภักดีชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอรัญประเทศ นำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้ามาร่วมพูดคุยในครั้งนี้

พ.อ.ธราพงษ์ มะละคำ รองผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 กล่าวว่า เรื่องสถานการณ์ทุ่นระเบิด เพื่อทำการเก็บกู้ และรื้อถอนทุ่นระเบิด รวมถึงสรรพาวุธระเบิดที่ถูกยิงออกมาแต่ยังไม่ทำงาน ซึ่งตกค้างอยู่ 4 อำเภอตามแนวชายแดนของจังหวัดสระแก้ว ได้แก่ อ.ตาพระยา โคกสูง อรัญประเทศ และอำเภอคลองหาด ให้หมดไปภายในปี 2561

สำหรับการดำเนินการเก็บกู้ และรื้อถอนทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีทุ่นระเบิดหลงเหลืออยู่ให้หมดไป เพื่อแจ้งเตือน และให้ความรู้เกี่ยวกับทุ่นระเบิดให้แก่ประชาชน เยาวชน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดที่ตกค้าง รวมทั้งเก็บข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับทุ่นระเบิดในพื้นที่ปฏิบัติงาน ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด เมื่อเครื่องตรวจพบโลหะที่คาดว่าเป็นทุ่นระเบิด เจ้าหน้าที่จะใช้เหล็กแหลมแทงทดสอบ เมื่อพบแล้วก็ใช้เสียมขุด หรือใช้พลั่วแซะดินออก ค่อยๆ ปาดหน้าดินออกทีละน้อย จนเห็นชัดเจนแล้วว่า เป็นทุ่นระเบิดจริง จากนั้นตรวจสอบว่าเป็นทุ่นระเบิดชนิดใด

หลังจากนั้น หัวหน้าชุดพิสูจน์เข้าตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญจะเข้ารื้อถอนพร้อมปลดชนวน ยกทุ่นออกมาเก็บไว้ในคลัง รอทำลาย ถ้ารื้อถอนไม่ได้ ก็ทำเครื่องหมายไว้ โดยปักหลักสีแดง 4 หลัก เอาเชือกขึงไขว้ และปักป้ายหัวกะโหลกให้เป็นที่รู้กันว่า มีระเบิดที่ยังไม่ได้ เอาขึ้น แล้วประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบ

นายชุดินทร คงศักดิ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวว่า ระเบิดที่พบ เช่น ทีเอ็มเอ็น 46 จากโซเวียต ระเบิดชนิดนี้ถูกส่งมาให้เวียดนามใช้สมัยสงครามเวียดนามกัมพูชา ต่อมา จีนสร้างระเบิดคล้ายชนิดนี้ขึ้นได้ รูปร่างคล้ายกัน เรียกว่า ไทป์ 59 แล้วก็ส่งมาให้เขมรใช้ นอกจากนั้น ยังมีระเบิดอื่นๆ อีกหลายชนิด พื้นที่ที่ต้องเก็บกู้ระเบิด หรือพื้นที่อันตรายจากระเบิดในจังหวัดสระแก้ว มีทั้งหมด 192 สนาม อยู่ใน 4 อำเภอ คือ อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง อำเภอคลองหาด และอรัญประเทศ เนื้อที่ทั้งหมด 181,643,544 ตร.ม.

ประเทศไทยเริ่มเก็บกู้มาตั้งแต่ พ.ศ.2543 เรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2555 มีขนาดพื้นที่รวม 162.91 ตร.กม ทำให้พื้นที่ดังกล่าวปลอดภัยจากทุ่นระเบิดจนถึงปัจจุบัน คงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการกู้ทุนระเบิด จำนวน 37 สนาม พื้นที่รวม 18.76 ตร.กม คาดว่าจะปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จทันเวลาที่กำหนด

นายชุดินทร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินการล่าช้ามาก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขาดงบประมาณ นอกจากนั้น ยังไม่สามารถทำเร็วได้ เพราะต้องเอาโลหะขึ้นทั้งหมด เพื่อการเก็บกู้ระเบิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในพื้นที่ตาพระยามีพื้นที่ที่ประกาศเป็นสถานที่ที่มีทุ่นระเบิดมาก ต้องเจาะช่องสุ่มตรวจเข้าไป

นอกจากนั้น ต้องหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อุทยานป่าไม้ จากชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ว่าเคยมีประชาชนถูกระเบิดหรือไม่ หรือมีสัตว์ถูกระเบิดไหม ถ้าไม่มีก็ให้เขายืนยันเพื่อความมั่นใจ จากนั้น เจ้าหน้าที่จะเข้าไปทำการตรวจสอบ
มีประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากระเบิด เข้าพูดคุยและให้ข้อมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น