ระยอง - ประธานาธิบดีสาธารณรัฐนาอูรู เปิดฐานพัฒนาคุณภาพแร่ฟอสเฟต เป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่เมืองระยอง ศูนย์กลางการส่งออกของประเทศไทย
วันนี้ (29 พ.ค.) His Excellency Hon.Sprint Dabwido (นายสปริ้น ดาวีโด) ประธานธิบดี สาธารณรัฐนาอูรู และรัฐมนตรีจากสาธารณรัฐนาอูรู อีก 2 ท่าน ได้เดินทางมาเยี่ยม และดูงานการผลิตปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ณ บริษัท แปซิฟิก ไดมอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยมี นายเควิน ไลย กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ประเทศนาอูรู ประจำประเทศไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายทัศนัย อติชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิก ไดมอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นาย Chong Kean yeng (ชอง เคียง ยิ่น) ผู้ควบคุมการผลิต ให้การต้อนรับ และพาเยี่ยมชมกิจการนำเข้าแร่ฟอสเฟต ขั้นตอนการผลิต ส่งออก ขายส่ง ขายปลีก ผลิตภัณฑ์อินทรีย์เคมี แร่ธาตุ ปุ๋ยทุกชนิด รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร การขายส่งสินค้าเคมีภัณฑ์ สินค้าขั้นกลางอื่นๆ
นายเควิน ไลย กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ประเทศนาอูรู ประจำประเทศไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า สาธารณรัฐนาอูรู เป็นเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นประเทศล่าสุดที่เล็กที่สุดของโลก อยู่ในพิกัดห่างจากเส้นศูนย์สูตรมาทางตอนใต้ 42 กิโลเมตร ล้อมรอบไปด้วยแนวปะการัง ซึงเป็นเกาะหินฟอสเฟตใหญ่ ในปัจจุบันถือว่าเป็น “ขุมทรัพย์ฟอสเฟต” มูลค่ามหาศาลที่ทำให้เศรษฐกิจที่ได้มาจากอุตสาหกรรมฟอสเฟต ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ดี เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นในหมู่เกาะแปซิฟิกด้วยกัน
และกล่าวอีกว่า การที่ His Excellency Hon.Sprint Dabwido (นายสปริ้น ดาวีโด) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐนาอูรู ได้เดินทางมาเยี่ยมชม และติดตามดูงาน ขั้นตอนการนำเข้า จนถึงการผลิตแร่ฟอสเฟต จนเป็นซูเปอร์ฟอสเฟต ที่มีคุณภาพสามารถนำไปใช้กับการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในปัจจุบัน แร่ฟอสเฟตที่มีคุณภาพมากที่สุดก็คือ แร่ที่นำเข้ามาจากเกาะนาอูรู หรือสาธารณรัฐอูนารู เมื่อผลิตมาเป็นปุ๋ยแล้ว เมื่อเกษตรกรนำไปใช้แล้วช่วยในการสังเคราะห์แสง สร้างแป้งและน้ำตาล ส่งเสริมการเจริญเติบโตของราก ทำให้ลำต้นแข็งแรง ไม่ล้มง่าย และต้านทานโรค ช่วยในการสร้างดอก และเมล็ด และช่วยให้พืชดูดไนโตรเจน โพแทสเซียม และโมลิบดีนัมดีขึ้น
นอกจากนี้ ฟอสเฟตเป็นสารที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายๆ ชนิด เช่น อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตนม ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์เบเกอรี โดยการผลิตสารประกอบฟอสเฟตนั้นสามารถผลิตได้จากกระดูกสัตว์ หินฟอสเฟต หรือปฏิกิริยาระหว่างไอออนของโลหะกับกรดฟอสฟอริก ซึ่งสารประกอบฟอสเฟตนั้นได้รับการรับรองว่าเป็นส่วนประกอบของอาหารที่ปลอดภัย (GRAS; Generally Recognized as Safe) จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในประเทศไทยตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (2547) นั้นได้มีการกำหนดปริมาณของสารประกอบฟอสเฟตสูงสุดที่สามารถใส่ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม และขาหมูรมควันไว้ที่ 3,000 มิลลิกรัม ต่อผลิตภัณฑ์ 1 กิโลกรัม
ส่วนทางด้าน His Excellency Hon.Sprint Dabwido (นายสปริ้น ดาวีโด) ประธานธิบดี สาธารณรัฐนาอูรู กล่าวว่า ขณะนี้ แร่ฟอสเฟตจากสาธารณรัฐอูนารู ได้ส่งเข้ามายังประเทศไทยแห่งเดียวในโลก เพื่อเป็นเซ็นเตอร์ของการผลิตปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ประเทศไทยจึงเป็นฐานการผลิต และส่งออกแห่งเดียวในโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาดูงาน และตรวจเยี่ยม เพื่อรับทราบข้อมูลต่างๆ ตลอดจนมาตรฐานขั้นตอนการผลิต คุณภาพของแร่ฟอสเฟตที่นำวัตถุดิบมาเข้าสู่กระบวนการ สูตรต่างๆ ว่าได้คุณภาพหรือไม่
อีกประการหนึ่งก็คือ จะได้รับรู้ว่าความต้องการของแร่ฟอสเฟตในประเทศไทยมีมากน้อยเพียงใด จะได้คำนวณ และกำหนดรายได้ทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ถ้าประเทศไทยสามารถผลิตได้ตามที่เกาะนาอูรู ส่งวัตดุดิบมา ก็จะได้ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในโซนเอเชีย เพียงประเทศเดียวเท่านั้น