xs
xsm
sm
md
lg

“มท.-บัวแก้ว” จับมือให้บริการทำบัตรประชาชนใน ตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ (แฟ้มภาพ)
มหาดไทยลงนาม MOU กับกระทรวงการต่างประเทศ ให้บริการทำบัตรประชาชนในต่างประเทศ คาดคนไทยกว่า 3 แสนคนได้ประโยชน์ ด้าน “ยงยุทธ” เตรียมเร่งแก้กฎกระทรวง

ที่กระทรวงต่างประเทศ วันนี้ (14 มี.ค.) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงประสานความร่วมมือในการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่คนสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน เช่น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาตามความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับ กระทรวงการต่างประเทศ ในการพัฒนาและขยายระบบการให้บริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ให้แก่คนสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุล เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนไทยในต่างประเทศไม่ต้องเดินทางกลับมาทำบัตรฯ ที่ประเทศไทยซึ่งเป็นการไม่สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายมาก

นายยงยุทธกล่าวภายหลังพิธีลงนามใน MOU ว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้เสนอร่างกฎกระทรวงมหาดไทยในการกำหนดสถานที่ทำบัตรประจำตัวประชาชนเพิ่มเติม จากที่กำหนดให้ทำได้เฉพาะในประเทศไทย รวมทั้งคำสั่งกระทรวงมหาดไทยเพื่อแต่งตั้งเจ้าหน้าที่การทูตที่ปฏิบัติงานด้านกงสุลที่กระทรวงการต่างประเทศมอบหมายเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับการปฏิบัติงานบัตรประจำตัวประชาชน จากนี้คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศสามารถยื่นคำขอมีบัตรใหม่ หรือ ขอเปลี่ยนบัตรกรณีบัตรหมดอายุได้ ณ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่

โดยระยะเริ่มต้นจะเปิดบริการนำร่องใน 5 เมือง ได้แก่ นครลอสแองเจลิส มีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 180,000 คน นครนิวยอร์ก 20,000 คน นครชิคาโก 20,000 คน กรุงเบอร์ลิน 13,000 คน และไต้หวัน 76,316 คน ซึ่งคาดว่าจะมีคนไทยได้รับประโยชน์จากบริการนี้ประมาณ 309,316 คน

รมว.มหาดไทยกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ทั้ง 2 กระทรวงจะเร่งดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมทุกๆ ด้าน โดยกรมการกงสุลจะเป็นผู้ดำเนินการด้านการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมเครือข่ายสื่อสารระบบข้อมูล และกำหนดสถานที่ในการจัดทำบัตร ในส่วนของกรมการปกครองจะดำเนินการด้านการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร พร้อมทั้งระบบโปรแกรมการปฏิบัติงานต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ และการพัฒนาระบบความปลอดภัยให้มีมาตรฐานเดียวกับการให้บริการในประเทศไทย รวมทั้งเร่งรัดการออกกฎกระทรวงและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง เมื่อผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วคาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างรวดเร็วในทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น