เชียงราย - เกษตรกรชาวสวนสับปะรดเชียงรายฮือประท้วง รุมด่ารัฐบาล-ส.ส.ไม่ดูแลเหมือนกับที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ จนทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำเหลือ 1.70 บาท/กก. ทั้งที่ต้นทุนสูงกว่า 3 บาท/กก.ขึ้น ขณะที่รัฐประกันราคา 4 บาท/กก.แต่ต้องขนไปส่งโรงงานเมืองชล-ประจวบฯ ร้อนถึงผู้ว่าฯ เข้าเจรจา บอกล่าสุด ครม.ให้เปิดรับซื้อในพื้นที่แล้ว
วันนี้ (25 พ.ค.) กลุ่มเกษตรกรชาวสวนผู้ปลูกสับปะรดจากพื้นที่ 5 อำเภอ คือ แม่จัน แม่สาย แม่ฟ้าหลวง พาน และเชียงแสน ประมาณ 300 คน นำโดยนายเพชร บุญเป็ง ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้พากันไปชุมนุม พร้อมนำสับปะรดผลสุกไปเทที่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดฯ และถือป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องราคาโดยมีข้อความต่างๆ ที่มีเนื้อหาว่ารัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่ได้ดูแลพวกเขาเหมือนที่สัญญาเอาไว้จนทำให้ราคาตกต่ำ
นายเพชรกล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรที่ชุมนุมครั้งนี้เป็นผู้ปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียซึ่งตามปกติจะส่งจำหน่ายโรงงานแปรรูปผลไม้ แต่ปรากฏว่าปีนี้ราคากลับตกต่ำลงอย่างหนักเหลือเพียงกิโลกรัมละประมาณ 1.70 บาท ขณะที่ต้นทุนขั้นต่ำอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาท ทำให้ชาวสวนเดือดร้อนอย่างหนัก ขณะที่รัฐบาลได้รับประกันราคาทั่วประเทศที่กิโลกรัมละ 4 บาท แต่ต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายที่หน้าโรงงานที่ จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ ซึ่งมีต้นทุนสูงหากขนไปคงไม่คุ้มค่าต้นทุน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลและ ส.ส.รวมทั้งทางจังหวัดเร่งช่วยเหลือให้ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมนี้ด้วย
ต่อมานายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เข้ารับเรื่องจากชาวบ้านที่แจ้งปัญหาว่า หากต้องนำผลผลิตไปส่งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์จะเสียต้นทุนค่าขนส่งประมาณ 17,000 บาท และ จ.ชลบุรีประมาณ 15,000 บาท จึงอยากให้รับซื้อในพื้นที่แทนการส่งไปยังโรงงาน
นายธานินทร์ระบุว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องผลผลิตดังกล่าว รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 55 ที่ผ่านมาแล้ว โดยจะให้องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ออกไปรับผลผลิตเพื่อนำไปกระจายสู่โรงงานแปรรูปต่างๆ ใช้งบประมาณกลางจำนวนประมาณ 1,500 ล้านบาท
นายธานินทร์กล่าวว่า สำหรับเชียงรายมีโควตาเอาไว้ประมาณ 9,000 กว่าตัน ซึ่งสามารถดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ โดยจะสรุปรายละเอียดการดำเนินการรับซื้อให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ (25 พ.ค.) ซึ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งจะใช้วิธีการเดียวกับ จ.ลำปาง คือตั้งจุดรับซื้อจำนวน 4 จุด คือ อ.พาน อ.เชียงแสน อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย
ส่วนผลผลิตที่ตามปกติจะมีมากกว่าในโควตา เพราะบางส่วนก็ไม่ได้ลงทะเบียนเอาไว้คาดว่ามีนับหมื่นตัน ก็จะมีวิธีการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้จัดสรรงบประมาณไปรับซื้อเพื่อนำไปกระจายสู่ตลาดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดที่ลงทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 6,922 ไร่ ผลผลิตจำนวน 16,750 ตัน และที่ปลูกทั้งหมดจำนวน 16,989 ไร่ ผลผลิตจำนวน 45,403.275 ตัน ซึ่งแกนนำกลุ่มเกษตรกรมีความกังวลเรื่องการเก็บผลผลิต หากเก็บไว้นานจะเน่าเสียไม่สามารถนำเข้าสู่โครงการได้ จึงขอให้ทางจังหวัดได้เร่งดำเนินการโดยเฉพาะการรับซื้อนอกโควตาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว
นายธานินทร์ได้รับเรื่องเอาไว้พร้อมรับปากจะดำเนินการโดยเร็ว ทำให้กลุ่มชาวสวนสับปะรดพอใจและสลายตัวไปในที่สุด