xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ป่าไม้ลำปางวิกฤตแล้ว “งาว-วังเหนือ” หนักสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอนิวัตต์ อร่ามนนทิราลัย ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง
ลำปาง - ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ รับป่าไม้ลำปางวิกฤตแล้ว ชี้ “งาว-วังเหนือ” หนักสุด เร่งออก 6 มาตรการป้องกันปราบปรามก่อนที่ป่าต้นน้ำจะหมดจนก่อปัญหาร้ายแรงตามมา

วันนี้ (14 พ.ค.) นายอนิวัตต์ อร่ามนนทิราลัย ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง นำภาพถ่ายซึ่งทางหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้บินสำรวจทุกอำเภอของจังหวัดลำปางเมื่อเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมาแสดงต่อผู้สื่อข่าว พร้อมกับบอกว่าป่าไม้ของจังหวัดลำปางในขณะนี้ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนักจากการถูกบุกรุกแผ้วถาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา เขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท

โดยพื้นที่ที่พบการบุกรุกมากที่สุดคือ พื้นที่ป่าสงวนเขตอำเภองาว อำเภอวังเหนือ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินพื้นที่ได้

นายอนิวัตต์บอกว่า สาเหตุของการบุกรุกแผ้วถางป่า พบว่าปัญหาใหญ่มาจากการทำการเกษตรและนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชบางชนิดที่ทำให้พืชชนิดนั้นๆ มีราคาสูงส่งผลให้มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่ม รวมถึงคนต่างถิ่นเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อปลูกยางพารา โดยมีนายหน้าในพื้นที่จัดซื้อในลักษณะแปลงใหญ่ คือ 500-1,000 ไร่ ซื้อทั้งที่ดินที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิ และลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวน

นายอนิวัตต์บอกว่า ปัญหาดังกล่าวทำให้ขณะนี้ทางสำนักงานได้เสนอแนวทางการป้องกันปราบปราม รวม 6 มาตรการ ให้จังหวัดลำปางดำเนินการแล้ว ซึ่งประกอบด้วย 1. ให้ใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับอย่างเข้มงวด 2. ใช้มาตรการชะลอ งด การพัฒนาการส่งเสริม การสนับสนุนกิจกรรมทุกประเภทแก่หมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่าอย่างผิดกฎหมาย 3. ใช้มาตรการทางสังคม โดยการไม่รับซื้อผลผลิตที่ผลิตในพื้นที่ที่บุกรุกป่า

4. ขอความร่วมมือภาคเอกชน งดให้การสนับสนุนการเกษตรทุกชนิดในพื้นที่ป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธาร 5. ให้ผู้นำท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล และใช้กฎหมายบังคับ และ 6. ให้มีการบรรจุระเบียบวาระการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า และยึดถือครอบครองพื้นที่ของแต่ละอำเภอเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้สถานการณ์และทำการป้องกันปราบปรามทันที

นอกจากนี้ ทางสำนักงานฯ จะเสนอแนวทางที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อรัฐบาลด้วย คือ ขอให้สนับสนุนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เพื่อให้เปลี่ยนแปลงการทำมาหากินจากการปลูกพืชแล้วต้องบุกรุกพื้นที่ เป็นการส่งเสริมหรือจ้างงานให้ปลูกป่าแทน โดยอาจจะให้เป็นเงินเดือนในการปลูก-ดูแลไปในตัว และนำโครงการดังกล่าวเสนอต่อต่างประเทศเพื่อรับการสนับสนุน รวมถึงเก็บภาษีจากคนเมืองมาช่วยในการจ้างงานด้วย ซึ่งวิธีนี้จะสามารถทำให้คนที่อยู่กับป่าหรือใกล้ป่าเปลี่ยนแนวคิดใหม่ และเป็นการร่วมกันดูแลป่าอย่างยั่งยืน

“หากยังไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ผลที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศร้อน น้ำท่วมในทุกพื้นที่ ภัยแล้ง ก็จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น”



กำลังโหลดความคิดเห็น