xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบต้านโรงไฟฟ้าฯ ชร.ไม่หยุด ฮือปิดถนนแยกกำนันเลิศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้านแม่หะ ม.3 และบ้านศรียางชุม ม.13 ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย ประมาณ 500 คน ร่วมชุมนุมปิดถนนทางแยกกำนันเลิศเส้นทางเชื่อมระหว่าง อ.เมือง อ.แม่จัน และ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย เพื่อแสดงพลังคัดค้านการก่อตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่
เชียงราย - ชาวบ้านแม่จันร่วม 500 คนลุกฮือต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลซ้ำอีกรอบ คราวนี้ยกคณะเข้าเทศบาลฯ จี้ถามที่มารายเซ็นปลอม-ชื่อผีโผล่ “ประชาคม” ก่อนยกคณะปิดถนน “แยกกำนันเลิศ” บีบนายกเทศบาลตำบลท่าข้าวเปลือกแจงข้อเท็จจริง ก่อนจับทำข้อตกลงไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าฯ กลางเต็นท์ผู้ชุมนุมประท้วง

วันนี้ (10 พ.ค.) กลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้านแม่หะ ม.3 และบ้านศรียางชุม ม.13 ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย ประมาณ 500 คน ได้ไปชุมนุมกันที่สำนักงานเทศบาลตำบลท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อสอบถามทางเทศบาลฯ กรณีมีหนังสือเรื่อง การจัดทำประชาคมหมู่บ้านทั้ง 2 แห่งไปยังสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงราย ประกอบการขออนุญาตก่อสร้างโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลพื้นที่บ้านศรียางชุม โดยระบุว่าชาวบ้านจาก ม.3 จำนวน 161 คน และ ม.13 จำนวน 128 คน เห็นชอบการก่อสร้างเป็นเอกฉันท์ ลงนามโดยนายสุทิน กับปะหะ นายกเทศมนตรีตำบลท่าข้าวเปลือก

แต่ชาวบ้านที่ชุมนุมยืนยันว่าไม่ได้เห็นชอบให้มีการก่อสร้างในพื้นที่ เพราะกลัวเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งไม่เคยลงลายมือชื่อในประชาคมดังกล่าวด้วย

กลุ่มชาวบ้านซึ่งนำโดย นายสมศักดิ์ คำเขียว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านศรีเมืองชุม, นายพรมมา หะวัน, นางอรรถยา ก้านออนตา, นายสุทัศน์ หะวัน, นายประพันธ์ กับปะหะ ฯลฯ ได้นำสำเนารายชื่อประกอบการทำประชาคมของเทศบาลฯ ไปแสดงด้วย ซึ่งพบว่ามีรายชื่อจำนวนมากที่คนคนเดียวกันแต่กลับมีการลงนามเห็นชอบ 2 ครั้ง และมีการนำเอารายชื่อผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วไปออกเสียง รวมทั้งมีบางคนที่มีทั้งลายมือชื่อและการใช้หมึกพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือบางคนเสียชีวิตไปแล้ว และลูกหลานระบุว่าเขียนหนังสือไม่เป็น แต่กลับมีลายมือชื่อในประชาคม ฯลฯ ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม นายตรี ทศพล ปลัดเทศบาลและเจ้าหน้าที่ ได้แจ้งว่า นายสุทินติดธุระไปต่างจังหวัด ทำให้ชาวบ้านพากันไปปิดถนนตรงสามแยกกำนันเลิศ บริเวณตู้ยามตำรวจท่าข้าวเปลือก บ้านเนินทอง ม.14 ต.ท่าข้าวเปลือก ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่าง อ.เมือง อ.แม่จัน และ อ.ดอยหลวง จนทำให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาไม่สามารถผ่านได้ จากนั้นแกนนำผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ทางเทศบาลฯ ไปชี้แจงที่มาของประชาคมดังกล่าวให้ได้ แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.แม่จัน และตำรวจ สภ.แม่จัน นายอุดม กับปะหะ กำนัน ต.ท่าข้าวเปลือก ฯลฯ ไปเจรจาไกล่เกลี่ยก็ไม่เป็นผล

ทั้งนี้ ชาวบ้านขู่อีกว่าถ้านายสุทินไม่ไปพบจะพากันไปปิดถนนพหลโยธิน บริเวณกิ่วทัพยั้ง ต.แม่จัน อ.แม่จัน ซึ่งเป็นถนนสายหลักด้วย

นางจำปี กาหะ อยู่บ้านเลขที่ 21/1 ม.13 กล่าวพร้อมนำใบมรณบัตรของสามีไปแสดงด้วยว่าสามีของตนชื่อนายจันทร์ติ๊บ กาหะ ได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2551 แต่การทำประชาคมและทำหนังสือของเทศบาลฯ มีขึ้นปลายปี 2554 กลับมีรายชื่อสามีตนลงนามเห็นชอบในประชาคมดังกล่าวด้วย จึงแปลกใจมาก และเห็นว่าเป็นการปลอมแปลงรายชื่อแน่นอน

นายก๋วน หะวัน อยู่บ้านเลขที่ 36 ม.3 กล่าวว่า ในเอกสารประชาคมที่เทศบาลฯ ส่งให้สำนักงานอุตสาหกรรมมีรายชื่อตนด้วย 2 รายชื่อ โดยมีทั้งที่ลงนามเป็นลายเซ็น ซึ่งก็ไม่ใช่ของตนแน่นอน และอีกชื่อเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือด้วยน้ำหมึก ซึ่งถือว่าปลอมแปลงแน่นอน

ต่อมานายสุทิน พร้อมด้วยกำนันและผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านได้เข้าไปเจรจากับชาวบ้านด้วยดี ซึ่งชาวบ้านพยายามถามถึงสาเหตุของเอกสารการทำประชาคม ซึ่งมีรายชื่อซ้ำ-รายชื่อผู้เสียชีวิต ฯลฯ ว่ามาได้อย่างไร และมีการจัดทำประชาคมเมื่อไหร่ อย่างไร

ปรากฏว่า เทศบาลฯ ชี้แจงว่าเป็นรายชื่อที่มาจากผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านขอคำตอบจากผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 คน แต่ทั้งคู่ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้เทศบาลฯ รวมทั้งระบุให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะชาวบ้านได้นำรายชื่อไปประกอบการแจ้งความดำเนินคดีแล้วที่ สภ.เมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 55 ที่ผ่านมา

นายสุทินกล่าวว่า เทศบาลฯ ก็รับเอกสารมาตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน ปลัด ฯลฯ ก่อนยื่นหนังสือไปยังสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงราย แต่เมื่อมีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้วก็คงต้องตรวจสอบกันตามกฎหมายว่าผิดในขั้นตอนใดหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ต่อมาชาวบ้านเรียกร้องให้ทางเทศบาลฯ ฝ่ายปกครอง อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เอกชนที่จะเข้าไปก่อสร้างคือ บริษัทท่าข้าวเปลือก กรีนเพาเวอร์ จำกัด ไปร่วมทำข้อตกลงว่าจะไม่ก่อสร้างโรงงานในพื้นที่อีก หรือยกเลิกการขออนุญาต รวมทั้งการประชาคมดังกล่าว

แต่นายสุทินได้ขอให้มีการทำข้อตกลงเฉพาะผู้ชุมนุมกับเทศบาลฯ เพราะการประสานงานกับหน่วยงานอื่นเป็นไปด้วยความยากลำบากหรืออาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 วัน แต่กลุ่มชาวบ้านไม่ยินยอม ทำให้มีการทำข้อตกลงกันเป็นเอกสารโดยตั้งโต๊ะพิมพ์กันกลางเต็นท์ที่กางไว้บนถนน และทุกหน่วยงานร่วมลงนาม เหลือเพียงบริษัทเอกชนที่ไม่ได้ลงนามด้วย ทำให้กลุ่มชาวบ้านจะพากันยกขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงรายต่อ เพื่อนำเอกสารที่ลงนามดังกล่าวไปมอบสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย เพื่อให้ปัญหานี้ยุติ แต่จังหวัดได้ประสานทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงรายให้ไปรับเรื่องถึงพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านพอใจ


นางจำปี กาหะ บ้านเลขที่ 21/1 ม.13 ชี้ให้ดูชื่อของสามี ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่กลับมีชื่อโผล่ในรายชื่อผู้ร่วมประชาคมของเทศบาลตำบลท่าข้าวเปลือก



กำลังโหลดความคิดเห็น