เชียงราย - ม็อบต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงรายฮือซ้ำ รวมตัวหน้าสภาเทศบาลเมืองฯ ก่อนยกคณะขึ้นแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องปลอมลายมือชื่อทำประชาคม
วันนี้ (9 พ.ค.) กลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้านศรียางชุม ม.13 ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย และหมู่บ้านข้างเคียง รวมประมาณ 200 คน ได้รวมตัวกันที่สภาเทศบาลเมืองเชียงรายเพื่อแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า ชาวบ้านถูกสวมรายชื่อทำประชาคมเห็นชอบการก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ซึ่งดำเนินการโดยเทศบาลตำบลท่าข้าวเปลือก อำเภอแม่จัน
หลังจากที่มีเอกชนคือ บริษัทท่าข้าวเปลือก กรีนเพาเวอร์ จำกัด ได้ขออนุญาตจัดตั้งโรงงานตั้งแต่ปี 2554 และทางเทศบาลฯ ระบุว่าได้จัดทำประชาคมเสร็จแล้ว และยื่นหนังสือไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ว่าชาวบ้านเห็นชอบด้วย ต่อมาจึงมีการเริ่มเข้าไปปรับพื้นที่และก่อสร้างบริเวณใกล้หมู่บ้านทำให้ชาวบ้านออกมายื่นหนังสือร้องทุกข์ยังหลายหน่วยงาน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายอำเภอ, นายสุทิน กัปปะหะ นายกเทศมนตรีตำบลท่าข้าวเปลือก ฯลฯ
โดยครั้งนี้กลุ่มชาวบ้านซึ่งมีแกนนำหลายคน เช่น นายสมศักดิ์ คำเขียว อายุ 42 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านศรีเมืองชุม, นายพรมมา หะวัน, นางอรรถยา ก้านออนตา อายุ 28 ปี, นายสุทัศน์ หะวัน, นายประพันธ์ กัปปะหะ ฯลฯ ได้นำหลักฐานเป็นเอกสารการจัดทำประชาคมของเทศบาลตำบลท่าข้าวเปลือก เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม และ 25 ตุลาคม 54 ตามลำดับ กรณีบริษัทขออนุญาตและมีการจัดทำประชาคมดังกล่าว พร้อมมีรายชื่อประกอบ พร้อมระบุการจัดทำประชาคมที่บ้านศรียางชุม ม.13 โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมจำนวน 161 คน และ ม.13 จำนวน 128 คน ซึ่งมีผลยืนยันว่าชาวบ้านเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้เอกชนทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลได้
ชาวบ้านระบุว่า การประชุมและจัดทำรายชื่อประกอบการทำประชาคมดังกล่าวนั้นชาวบ้านไม่เคยรู้เรื่อง และเพิ่งจะทราบความคืบหน้าโครงการเมื่อมีการเข้าไปก่อสร้างในพื้นที่เท่านั้น โดยก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยรู้ว่ามีการทำประชาคมกันแล้ว กระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม 55 ที่ผ่านมาได้ไปร้องเรียนต่อนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ได้นำหลักฐานการทำประชาคมดังกล่าวจากเทศบาลตำบลท่าข้าวเปลือก ระบุชื่อนายสุทิน นายกเทศมนตรี มาให้ชาวบ้านดู ทำให้ชาวบ้านรู้ความคืบหน้าของขบวนการดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่ทราบเรื่องทำประชาคมชาวบ้านก็ได้ขอดูลายมือชื่อที่ได้มีการลงนาม เพราะหลายคนมั่นใจว่าตัวเองยังไม่เคยลงลายมือชื่อยินยอมให้มีการก่อสร้างโรงงาน แต่กลับพบว่ามีลายมือชื่อของตัวเองปรากฏอยู่ด้วย ถือเป็นลายมือปลอมอยู่ในใบประชาคม จึงจำเป็นต้องแจ้งความต่อตำรวจเพื่อให้ช่วยหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งจะใช้เป็นหลักฐานในการยื่นเรื่องประกอบขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างด้วย
นางอรรถยากล่าวว่า สาเหตุที่ชาวบ้านไม่อยากให้ก่อสร้างเพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ยิ่งมาพบเรื่องการปลอมแปลงลายมือชื่อ ยิ่งทำให้ต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องกันมากขึ้น
ต่อมา พ.ต.ท.สมคิด หมั่นงาน รอง ผกก.สส.สภ.เมืองเชียงราย พร้อมด้วย ร.ต.อ.ศุภชัย กันทะสิงห์ พนักงานสอบสวนได้รับเรื่องจากกลุ่มชาวบ้าน พร้อมให้แกนนำนำข้อมูลหลักฐานไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะเอกสารรายชื่อในการทำประชาคม ซึ่งชาวบ้านระบุว่าไม่ได้เห็นชอบด้วย แต่กลับมีรายชื่อเห็นชอบ เพื่อจะได้เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ เช่น เทศบาลตำบลท่าข้าวเปลือก ชาวบ้านที่มีรายชื่อ ฯลฯ ทำให้กลุ่มชาวบ้านพอใจ แต่ยังคงรวมตัวกันที่หน้าสภาเทศบาลเมืองเชียงราย โดยนำป้ายต่อต้านระบุข้อความต่างๆ มาแสดงต่อสาธารณชนด้วย