xs
xsm
sm
md
lg

สตง.เล็งดึงภาค ปชช.ร่วมจับผิดใช้จ่ายงบแผ่นดินของหน่วยงานรัฐ ป้องกันโกงกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมนักวิชาการกะเทาะเปลือกการทำหน้าที่ตรวจการใช้จ่ายเงินภาครัฐของ สตง.ในรอบ 96 ปี แนะเปิดเว็บไซต์ให้ประชาชนและหน่วยงานภายนอกเข้าไปดูระเบียบการใช้จ่ายเงินเพื่อความถูกต้อง ลดปัญหาการใช้จ่ายเงินผิดประเภท พร้อมเน้นส่งเสริมจริยธรรมการใช้จ่ายเงินจะช่วยป้องกันการทุจริตคอร์รับชันได้ดีกว่าการจับผิด ด้าน สตง.เตรียมดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยตรวจสอบความผิดปกติการใช้จ่ายเงินภาษีอากรของประชาชนตามโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐดำเนินการ ป้องกันงบถูกผลาญจากการโกงกิน

ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 5 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นายสุชัย เจริญมุกขยนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนารู้รักษ์ เงินแผ่นดิน โดยมีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายพรชัย โควสุรัตน์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และนางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครอุบลราชธานี ร่วมเสวนา

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงบทบาทของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ว่ายังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชน และไม่ทราบความสำคัญของภารกิจที่หน่วยงานมีหน้าที่ต่อการใช้จ่ายเงินภาษีของแผ่นดิน ที่ผ่านมาในแต่ละปี สตง.ต้องตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาษีของหน่วยงานรัฐ และช่วยประหยัดนำเงินภาษีที่ใช้จ่ายไปอย่างผิดประเภทกลับคืนมาให้ประเทศปีละนับหมื่นล้านบาท

หากไม่มี สตง.ประเทศจะสูญเสียเงินภาษีจากการใช้จ่ายไม่คุ้มค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยมีการประมาณการความสูญเสียมากถึงหลักหลายหมื่นล้านบาท หรือแสนล้านบาทในอนาคต แต่การทำงานของ สตง.ที่ผ่านมาทำในลักษณะปิดตัวเอง แต่ปีนี้เป็นต้นไป สตง.จะดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยตรวจสอบความผิดปกติการใช้จ่ายเงินภาษีอากรของประชาชนตามโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐดำเนินการ ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายเงินของหน่วยงานราชการคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

ด้าน รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า บทบาทของ สตง.นอกจากเน้นการปรามการใช้เงินภาษีของประชาชนแล้ว ต้องการให้ สตง.เน้นส่งเสริมจริยธรรมด้านการใช้จ่าย เพราะเมื่อคนใช้จ่ายเงินมีจริยธรรมก็จะเกิดประโยชน์ในการใช้จ่ายเงิน เพราะจากการสำรวจของเอแบคโพลล์เมื่อปี 2553 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 64.5% ที่มองการคอร์รับชันของนักการเมืองเป็นเรื่องยอมรับได้ หากทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น

และที่สำคัญคือ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว “จึงสะท้อนถึงจริยธรรมของคนที่ตอบแบบสอบถาม และกลายเป็นเรื่องน่าห่วงของประเทศ เพราะการทุจริตคอร์รับชันไม่สามารถเดินควบคู่ไปกับความเจริญของบ้านเมืองได้”

รศ.ดร.นงนิตย์ยังกล่าวแสดงความเห็นต่อว่า ขณะเดียวกัน มีความเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจเอกชนถึงร้อยละ 70 ที่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้งานจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานของรัฐ อดีตมีการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะร้อยละ 25 แต่ปัจจุบันสูงกว่านั้นมาก ซึ่งมีการคำนวณเงินภาษีอากรที่เก็บจากประชาชน ต้องสูญเสียไปกับการทุจริตคอร์รับชันมากถึงปีละกว่า 2 แสนล้านบาท “กงล้อประวัติศาสตร์จะเห็นว่า ประเทศที่ล่มสลายก็เพราะการทุจริตคอร์รับชัน ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบอยู่ขณะนี้”

จึงอยากเห็น สตง.เปิดเว็บไซต์ให้คนในหน่วยงานหรือคนทั่วไปศึกษาค้นคว้าการใช้จ่ายเงินของรัฐ นอกจากช่วยลดความผิดพลาด การใช้จ่ายเงินผิดระเบียบ ยังช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องของหน่วยงานราชการได้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนายพรชัย โควสุรัตน์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า อดีตถ้าได้ยินว่า สตง.เข้าตรวจสอบหน่วยงานใดจะรู้สึกตกใจ แต่ในความเป็นจริง หากหน่วยงานมีการใช้จ่ายตามความเป็นจริงก็ไม่มีความผิด ซึ่ง สตง.ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทุกประเภท

แม้เป็นการใช้จ่ายเงินด้านดีก็ต้องตรวจสอบ การแก้ปัญหาทุจริตของหน่วยงานรัฐ ต้องเอาประชาชนมามีส่วนร่วม เพราะการทุจริตไม่ใช่เพิ่งมี แต่เกิดขึ้นมาเป็นหลายร้อยปีแล้ว

ขณะนี้ต้องคิดจะปิดช่องว่างไม่ให้มีการทุจริตได้อย่างไร ประชาชนจึงเป็นความหวังหนึ่งของสังคมในการร่วมป้องกัน ส่วน สตง.ก็มีหน้าที่ตรวจสอบให้การใช้จ่ายตรงตามวัตถุประสงค์ของประเทศ และให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในประเทศ สตง.จึงมีความสำคัญที่คอยกำกับดูแลไม่ให้หน่วยงานรัฐใช้จ่ายเงินอย่างไม่คุ้มค่า

ด้านนางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครอุบลราชธานี ยกตัวอย่างการต่อสู้ของชุมชนกับการใช้จ่ายเงินในโครงการทำฟุตปาธทางเท้าของเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งประชาชนรวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และศาลได้ตัดสินว่าโครงการรื้อฟุตปาธทางเท้าครั้งนี้ไม่ถูกต้อง พร้อมให้ทำฟุตปาธคืนแก่ชุมชน แต่จนถึงปัจจุบันเทศบาลฯ ยังไม่ทำตามคำตัดสินของศาล และการรื้อทำลายของบริษัทผู้รับเหมาทำให้รัฐเสียหาย ได้ยื่นเรื่องให้ สตง.เข้ามาตรวจสอบ

แต่ถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบจาก สตง.จะดำเนินการต่อเทศบาลนครอุบลราชธานีและบริษัทผู้รับเหมาที่ทำให้ฟุตปาธทางเท้าเสียหายอย่างไร จึงให้คะแนนการทำงานของ สตง.ต่อกรณีนี้ไม่ถึงร้อยละ 50

ซึ่งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินระบุว่า จะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความคืบหน้าของเรื่องนี้ และจะแจ้งให้ภาคประชาชนทราบ

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ มีตัวแทนภาคประชาชนจากหลายองค์กรสนใจเข้าร่วมรับฟังจนเต็มห้องประชุม และมีการแสดงความเห็น พร้อมเข้าร่วมดูแลเงินภาษีอากรที่หน่วยงานรัฐเบิกจ่ายออกไปใช้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินภาษีอากรของประเทศ ถูกนำไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนทั้งประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น