เชียงราย - ธุรกิจที่ดินเมืองพ่อขุนฯ เริ่มขยายตัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทุนใหญ่ไทย-เทศเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ขณะที่การซื้อขาย-โอนกรรมสิทธิ์รายย่อยเกิดขึ้นต่อเนื่อง
รายงานข่าวจาก จ.เชียงรายแจ้งว่า ขณะนี้การซื้อขายที่ดิน-โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ จ.เชียงรายยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายแห่งยังมีอัตราการเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มีรายงานจากสำนักงานที่ดิน จ.เชียงรายว่า ในปี 2554 พบมีการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินรูปแบบต่างๆ รวมจำนวน 6,917 แปลง มูลค่าทรัพย์สินกว่า 6,021 ล้านบาท และในปี 2555 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม หรือไตรมาสแรกพบมีการทำนิติกรรมแล้วจำนวน 1,894 แปลง มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 1,488 ล้านบาท
นายวุฒิสิทธิ์ จันทสูตร เจ้าพนักงานที่ดิน จ.เชียงราย กล่าวว่า การซื้อขายถ่ายโอนที่ดินในพื้นที่ จ.เชียงรายมีความคึกคักมากขึ้นกว่าในอดีตมาก สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน
เช่น มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ที่ อ.เชียงของ ฯลฯ จนทำให้บางบริเวณ เช่น อ.เชียงของ ฯลฯ มีการซื้อขายที่ดินกันอย่างมากมาย หรือเกิดจากการส่งเสริมด้านการปลูกยางพารา ทำให้มีการหาซื้อที่ดินหรือเข้าไปจับจองที่ดินเพื่อการเกษตรด้านนี้มากขึ้นจนเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันพบว่ามีประชาชนบางส่วนหันมาจับจองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยที่ จ.เชียงรายมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการเปลี่ยนการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินยังพบว่าส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนสิทธิเพื่อการอยู่อาศัยเป็นสำคัญ โดยยังไม่มีตัวเลขที่ผิดปกติหรือแตกต่างจากอดีตมากนัก แต่ก็ถือว่ากระเตื้องเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มาราว 5-10%
โดยยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางการเกษตรไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งของไทยและต่างชาติ และมีเพียงกลุ่มทุนจีนบางส่วน และกลุ่มเครือสหฟาร์มไม่กี่รายที่เข้าไปซื้อที่ดินที่ อ.เชียงของประมาณ 500 ไร่ และ อ.พญาเม็งรายประมาณ 800 ไร่ เพื่อเปิดกิจการโรงงานอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน พบว่ากลุ่มบริษัท ซี.พี. กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กลุ่มเบียร์ช้าง ฯลฯ ได้เข้าไปหาที่ดินในพื้นที่เช่นกัน เพียงแต่ที่ดินจำนวนมากที่ถูกระบุว่าเข้าไปดำเนินการก็ยังไม่มีการทำนิติกรรมต่อสำนักงานที่ดินเชียงรายแต่อย่างใด คาดว่าคงอยู่ระหว่างดำเนินการกันอยู่
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มทุนใหญ่เข้าไปจับจองพื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจใหญ่ๆ อย่างหลากหลาย ตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มจีเอ็มเอสได้หลายประเทศ ทั้งพม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้
ในอดีตเราไม่ค่อยเห็นการเข้าไปลงทุนในลักษณะนี้มากนัก พบเพียงกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาค้าขาย นำเข้าและส่งออก แต่ปัจจุบันกลุ่มทุนใหญ่ของไทยตัวจริงได้ทยอยไปลงทุน โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดในขณะนี้คือ เครือสหฟาร์ม ที่ไปซื้อที่ดินจำนวนมากที่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของเพื่อผลิตไก่ส่งออก จึงคาดว่าในอนาคตกลุ่มทุนที่ได้เข้าไปหาที่ดินจะทยอยลงทุนกันมากขึ้นเรื่อยๆ
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับราคาประเมินที่ดินประจำปี 2551-2554 โดยกรมธนารักษ์ระบุว่า ราคาที่ดินในเขต อ.เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ผ่านถนน R3a และมีกำหนดแล้วเสร็จราวปลายปี 2556 มีความแตกต่างจากราคาซื้อขายจริงในพื้นที่อย่างมาก
ราคาประเมินตามจุดสำคัญๆ คือ ที่ดินติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1129 สายเชียงของ-เชียงแสน ราคาไร่ละ 100,000 บาท ราคาติดถนนริมโขงและติดแม่น้ำโขงราคา 1,500,000-2,000,000 บาท
ขณะที่ที่ดินติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1020 สายเทิง-เชียงของ อยู่ที่ไร่ละ 2,500,000 บาท แต่เชื่อกันว่าราคาซื้อขายจริงจะเกินกว่าราคาประเมินไม่ต่ำกว่า 50% ขึ้นไป