ตาก - ชาวพุทธ 3 ชนชาติ ทั้งไทย-พม่า-ไทยใหญ่ (เงี้ยว) ร่วมสืบสานประเพณีแห่ผ้าเหลืองห่มองค์พระบรมธาตุวัดวังแก้ววนาราม เริ่มเทศกาลสงกรานต์ เจ้าอาวาสวัดเผยเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตกาลยาวนานหลายร้อยปี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตาก วันนี้ (11 เม.ย.) ว่า พุทธศาสนิกชนชาวไทย-ชาวไทยใหญ่ (ชาวเงี้ยว) และชาวพม่า รวมทั้งชนเผ่าชาวกะเหรี่ยงจำนวนมาก ได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีทางศาสนาพุทธที่เกี่ยวข้องกับวันเริ่มต้นเทศกาลสงกรานต์ โดยจัดประเพณีร่วม 2 แผ่นดิน แห่ผ้าเหลืองขึ้นธาตุเพื่อห่มองค์พระบรมธาตุ วัดวังแก้ววนาราม หมู่ 4 บ้านวังแก้ว-ห้วยกะโหลก ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมานานหลายร้อยปี นอกจากนี้ยังมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุแห่ด้วย
พระครูบาวาโย นาถธมโม เจ้าอาวาสวัดวังแก้ววนาราม กล่าวว่า ทางวัด และคณะกรรมการ รวมทั้งศรัทธาวัดได้ร่วมกันจัดประเพณีนี้ ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ของชาวพุทธทั้งไทย-พม่า และไทยใหญ่ รวมถึงชนเผ่าชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า เป็นพิธีแห่ผ้าเหลืองขึ้นธาตุไปห่มองค์พระบรมธาตุระหว่างเดือนเมษายนในช่วงเริ่มเทศกาลสงกรานต์เป็นประจำทุกปี เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงามของชาวพุทธชายแดนไทย-พม่าทุกชนเผ่าชาติพันธุ์ และเพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีระหว่างวัด ชุมชน และประชาชนสองฝั่งแม่น้ำเมย รวมทั้งเป็นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกทางด้านวัฒนธรรมให้ประชาชนทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่น
ตามประวัติประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยโบราณประมาณปี พ.ศ. 1773 ขณะที่กษัตริย์สามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังเตรียมการสมโภชพระบรมธาตุ ก็พอดีพระบฏ ซึ่งเป็นผ้าแถบใหญ่ยาวผืนหนึ่งถูกคลื่นซัดมาขึ้นที่ชายหาดอำเภอปากพนัง ชาวบ้านได้เก็บผ้านั้นไปซักทำความสะอาด แล้วถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศหาเจ้าของ จึงทรงทราบว่าผู้เป็นเจ้าของ คือกลุ่มชาวพุทธประมาณร้อยคนที่เดินทางมาจากหงสาวดี เพื่อนำพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา
ทว่า ระหว่างทางที่เดินทางมากลางทะเลนั้นเกิดพายุเรือแตก มีผู้รอดชีวิตมาได้ราวสิบคนเท่านั้น พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงเสนอให้นำพระบฏนั้นไปห่มองค์พระบรมธาตุ ผู้เป็นเจ้าของผ้าพระบฏก็อนุโมทนาด้วย จากนั้นชาวนครศรีธรรมราชก็ได้ถือปฏิบัติตามประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตกาลยาวนานต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปีแล้ว