แพร่ - วงเสวนารำลึกเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำป่าในลุ่มน้ำสรอย ครบรอบ 1 ทศวรรษ ชี้ภาครัฐไม่สนใจภูมิปัญญาชาวบ้าน-ไม่ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำแผนการแก้ปัญหาภัยพิบัติล้มเหลวมาตลอด ทำนายหลังน้ำท่วมหนักกรุงเทพฯ ทำงบแก้ปัญหาพุ่ง แต่เชื่อสุดท้ายไม่ได้ผล
ผู้สื่อข่าวจากจังหวัดแพร่รายงานว่า ในการจัดเวทีเสวนารำลึกเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำป่าในลุ่มน้ำสรอย ครบรอบ 1 ทศวรรษ ที่วัดศรีบุญเรือง ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ (8 เม.ย.) โดยมีนายสมาน กองแก้ว รักษาการนายอำเภอวังชิ้นเป็นประธานจัดงานนั้น กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม และกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่พุง ลุ่มน้ำสรอย มีข้อสรุปว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาของภาครัฐยังไม่ตรงจุด ไม่เปิดรับแนวคิดและภูมิปัญญาของชุมชน อีกทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
โดยในปัจจุบัน จ.แพร่ได้รับงบประมาณจำนวนมากในการวางมาตรการแก้ปัญหาภัยพิบัติ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทั้งการขุดลอกลำห้วย ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ เครือข่ายแก้ปัญหาภัยพิบัติใน จ.แพร่มองว่า นอกจากจะไม่ส่งผลดีแล้ว อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมา โดยยกตัวอย่างกรณีภัยพิบัติน้ำป่าใน อ.วังชิ้น เมื่อเดือน พฤษภาคม 2544 ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตถึง 40 รายในคืนเดียว โดยหลังน้ำป่าสงบลง การช่วยเหลือเยียวยาก็เริ่มขึ้น พร้อมทั้งงานฟื้นฟูสภาพลำห้วยที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาก็คือ การขุดลอกของทางการทำให้แก้มลิง หรือวังน้ำธรรมชาติหายไป ส่งผลให้ปลาธรรมชาติไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในลำห้วยเนื่องจากระดับน้ำตื้นเกินไปและไม่มีวังน้ำตามธรรมชาติ เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันไปประท้วงถึงกรรมาธิการวุฒิสภา แต่การแก้ไขของทางการก็คือการสร้างฝายคอนกรีตทดแทน ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้าร่วมการเสวนามองว่า จากเหตุการณ์ภัยพิบัติในปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐบาลจัดเตรียมเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา และฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในลักษณะนี้จะไม่ได้ผลเหมือนเช่นที่ผ่านมา
อีกทั้งยังอาจเกิดปัญหาทุจริตตามมาอีกด้วย เพราะการจะแก้ไขปัญหาให้ได้ผลอย่างยั่งยืนนั้น ภาครัฐต้องยอมรับในภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน