xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นบัญชีเขตภัยแล้งแล้ว 18 อำเภอทั่วเมืองพ่อขุนฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ประกาศให้พื้นที่ 18 อำเภอทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย เป็นเขตภัยพิบัติแล้งแล้ว เผย ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ที่เคยแล้งซ้ำซากทั้งสิ้น หลังน้ำสายหลักแห้งลงทุกวัน ระบบส่งน้ำขาดประสิทธิภาพ ผู้ว่าฯบอกต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป ขณะที่การสร้างอ่างทั่วพื้นที่ต้องใช้งบนับหมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย วันนี้ (28 มี.ค.) ว่า สถานการณ์ความแห้งแล้งเริ่มกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ หลังจากที่ฝนทิ้งช่วงติดต่อกันมานาน ทำให้แม่น้ำสายหลักต่างๆ เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำลาว แม่น้ำจัน แม่น้ำอิง แม่น้ำคำ ฯลฯ เริ่มเหือดแห้ง แม้แต่แม้น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ก็แห้งลงจนเห็นหาดทราย และโขดหินในบางจุดอย่างเด่นชัด ทำให้ในฝั่ง สปป.ลาว มีการขุดทรายไปใช้ประโยชน์กันอย่างคึกคัก

ขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรที่อยู่ลุ่มแม่น้ำสายต่างๆ เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตร แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการจัดทำเป็นฝายกั้นน้ำขนาดเล็กเอาไว้แล้วก็ตาม

นายธานินท์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ประสบภัยแล้งที่ตรวจสอบพบมักจะเป็นพื้นที่เดิมที่เคยแล้งซ้ำซาก จนทำให้พื้นที่นั้นๆ มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร เช่น นาปรัง ฯลฯ

ปัจจุบันชาวบ้านและชุมชนมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้วยการกักน้ำเท่าที่มีเหลืออยู่ไว้ใช้ แต่ในระยะยาวไม่สามารถแก้ไขได้หมด เพราะน้ำก็ยังแห้ง และพื้นที่ก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่จะนำไปใช้สร้างอ่างหรือฝ่ายกักเก็บน้ำ เพราะหากจะทำทั้งระบบทั้งจังหวัดก็คงจะใช้นับหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ยากในยุคที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อด้านอื่นด้วย

นายธานินทร์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบและศึกษาข้อมูลแล้ว พบว่า ปริมาณน้ำและแหล่งน้ำในพื้นที่มีความเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของประชาชน แต่สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งคือ การขาดระบบส่งน้ำที่ให้ไปถึงเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่ทั้งจังหวัด คือ 18 อำเภอเป็นเขตประสบภัยพิบัติอันเกิดจากความแห้งแล้งแล้ว เพื่อให้อำเภอได้จัดสรรงบประมาณฉุกเฉินจากทางอำเภอๆ ละ 1 ล้านบาท ลงไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างฝายกักเก็บน้ำ การแจกจ่ายน้ำสำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนจริงๆ ฯลฯ

ด้าน พ.อ.ธนภัทร พละพล ผบ.หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 35 กองบัญชาการทหารพัฒนา กล่าวว่า จากการสำรรวจพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ พบว่า มีพื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 80% ที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง โดยมีสาเหตุหลัก คือ แหล่งน้ำที่ชาวบ้านเคยใช้ตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้เพียงพอ โดยบางแห่งไม่มีการขุดลอกมานานกว่า 10 ปีแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น