xs
xsm
sm
md
lg

“สุรินทร์” แนะไทยเร่งปรับตัวสู่ “ประชาคมอาเซียน” จี้ภาคธุรกิจ-อุตฯ ตื่นรับตลาด 600 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “โอกาสประเทศไทยในเวทีอาเซียน” ในงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์นำไทย สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (Road to AEC) โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 7 เม.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “สุรินทร์” เลขาฯ อาเซียน แนะไทยเร่งปรับตัวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน “AEC” สร้างภาพลักษณ์ประเทศที่ดี อย่าให้เกิดปัญหาทะเลาะกัน ทำชายแดนให้สงบ ระบุการศึกษาต้องเข้มข้นผลิตคนคุณภาพออกมาแข่งขันในเวทีอาเซียนให้ได้ ภาคอุตฯ ต้องตื่นตัวปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับ 10 ประเทศอาเซียน แนะรัฐบาลหนุน “SMEs” จัดการกองทุนพิเศษเพื่อให้ออกไปลุยลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับหอการค้าภาคอีสาน จัดประชุมสัมมนาโครงการ “นำไทย ก้าวไกลในอาเซียน” ในหัวข้อเรื่อง “ยุทธศาสตร์นำไทย สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (Road to AEC) โดยมี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา ซึ่งได้รับความสนใจจากสมาชิกหอการค้า นักธุรกิจ ภาครัฐ และภาคเอกชน จาก 20 จังหวัดภาคอีสาน เข้าร่วมรับฟังการสัมมนากว่า 500 คน ซึ่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “โอกาสประเทศไทยในเวทีอาเซียน” ด้วย

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า อนาคตตลาดประเทศไทยจะใหญ่ขึ้น 10 เท่า จาก 64 ล้านคน เป็น 600 ล้านคนใน 10 ประเทศอาเซียน หากมองโดยรวมขณะนี้ไทยถือว่าไม่ด้อยกว่าประเทศอื่นมากนัก แต่ต้องปรับปรุงในหลายเรื่อง ทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี โดยเฉพาะด้านการเมือง และความมั่นคง อย่าให้เกิดปัญหาทะเลาะกัน หรืออย่าให้มีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้น รวมถึงปัญหากระทบกระทั่งตามแนวชายแดนที่ต้องแก้ไขให้ได้ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีปัญหากับกัมพูชามาโดยตลอด แต่ขณะนี้บรรยากาศก็เริ่มดีขึ้นซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดี เพราะต่อไปหากรวมเป็นประชาคมอาเซียน คำว่าเขตแดนจะไม่มีอีกต่อไป 10 ประเทศจะรวมเป็น 1 เดียว

สำหรับสิ่งที่เราจะต้องเร่งฝีเท้าให้เร็ว คือ การเตรียมคุณภาพของคนเพื่อให้เข้าสู่ตลาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ฉะนั้น การพัฒนาคนเพื่อความพร้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากต้องรีบปรับตัว อาจย้ายฐานหรือมีการปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม จากที่ใช้แรงงานมาก ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น คุณภาพของสินค้า ชนิดของสินค้าต้องเปลี่ยนไป เพราะหากเราอยู่ที่เดิมจะสู้ประเทศที่เขามีมากกว่า และมีแรงงานถูกกว่าไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและผู้รับผิดชอบ

ดร.สุรินทร์กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากของไทยคือ การผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพออกสู่สังคม นั่นหมายถึงการศึกษาของประเทศไทยต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ ต้องผลิตคนที่มีคุณภาพออกมาให้มาก เพื่อจะได้แข่งขันกับบุคลากรอีก 600 ล้านคนใน 10 ประเทศอาเซียน

สำหรับในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมจะต้องตื่นตัวปรับกลยุทธ์ ยุทธวิธีด้านการตลาดให้ใช้ได้กับ 10 ประเทศอาเซียน รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณในการสนับสนุนการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาสินค้าใหม่ให้มากกว่านี้ ประเทศที่พัฒนาอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และจีนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก ใช้งบประมาณ 4% ของรายได้ประชาชาติทุ่มกับงานค้นคว้าวิจัย แต่ไทยแม้จะมีนโยบายส่งเสริมออกมาตลอด แต่วันนี้เราใช้งบไปกับเรื่องนี้แค่ 0.24% เท่านั้น

ส่วนอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อม หรือ SMEs ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน พยายามออกไปสำรวจตลาดใหม่ พื้นที่ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นให้มาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินต่างๆ ต้องไปดำเนินการจัดหากองทุนพิเศษเพื่อให้ SMEs ออกไปสำรวจพื้นที่ สำรวจตลาด และไปหาคนที่มาเป็นพาร์ตเนอร์ เราจะต้องส่งเสริมให้ SMEs เหล่านี้ได้ออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ ออกไปอย่างมีพี่เลี้ยงมีที่ปรึกษา

ดร.สุรินทร์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีบริษัทใหญ่ๆ ที่ออกไปแล้วหลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จ เช่น ปตท. SCG สยามซีเมนต์กรุ๊ป และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ซึ่งบริษัทเหล่านี้ออกไปแล้วประสบความสำเร็จต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ SMEs นอกจากนั้น ธนาคารต่างๆ ที่มีสาขาในต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็ต้องทำตัวเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ SMEs ที่จะย้ายออกไป

“หากไม่มีการข้ามประเทศออกไปลงทุน และต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน ประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนก็จะเกิดขึ้นยาก เพราะระดับการค้าของอาเซียนยังต่ำอยู่ การที่จะเป็นประชาคมอาเซียนต้องเพิ่มจำนวนมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นกว่านี้ เราค้ากับโลกมากกว่าเราค้ากันเอง ตรงนี้ต้องมีการพัฒนา ต้องมีการยกระดับพัฒนาการค้ากับโลกให้มากกว่านี้” ดร.สุรินทร์กล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น