ประจวบคีรีขันธ์ - นายก อบต.ห้วยยาง ประจวบฯ สั่งรื้อโครงการบ้านพักหรูขายต่างชาติหมกเม็ดเลี่ยงภาษี อีกทั้งการแจ้งราคาในการซื้อขายที่ดินตามสัญญาต่ำกว่าราคาประเมินหลายล้านบาท ทำให้หน่วยราชการได้รับความเสียหายจากการประเมินภาษี จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องในระดับจังหวัดออกมาร่วมกันแสดงความรับผิดชอบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน เผยปัจจุบันโครงการจัดประเภทดังกล่าวมีเป็นจำนวนมากทั้งที่หัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด และทับสะแก
นายธวัชชัย แดงฉ่ำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกรณีบริษัท ซาลทาน่า พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ยื่นขอบ้านเลขที่ 119/5-119/12 จำนวน 8 หลัง ในพื้นที่หมู่ 7 ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก ซึ่งปลูกสร้างบนโฉนดเลขที่ 9968 เลขที่ 13 ตามที่อำเภอทับสะแก เสนอเรื่อง
แต่ อบต.ห้วยยาง พบข้อพิรุธในการแจ้งข้อมูลจากเอกสารสัญญากับทางราชการ โดยนางดลฤดี อยู่สุข อยู่บ้านเลขที่ 19/16 หมู่ 7 ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก ใกล้ชายหาดห้วยยาง ขายให้แก่บริษัท ซาลทาน่าฯ โดยนายจิรายุส ประเทืองสิน ทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2555 ระบุว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นการขายที่ดิน 3 งาน ในราคา 300,000 บาท โดยไม่มีสิ่งปลูกสร้าง และผู้ขายได้ที่ดินมาโดยซื้อเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 ไม่ค้างชำระภาษีบำรุงท้องที่และไม่มีการเช่า
นายก อบต.ห้วยยาง ระบุอีกว่า จากการตรวจสอบกับฝ่ายการคลังไม่พบหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่แต่อย่างใด นอกจากนั้น สัญญาซื้อขายดังกล่าวน่าจะมีการแจ้งเท็จกับทางราชการ เนื่องจากในระหว่างการทำสัญญาในที่พื้นที่นอกเขต ที่ปรากฎตามโฉนดที่ดิน มีสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านหรูราคาหลังละหลายล้านบาท ตามเอกสารที่ฝ่ายโยธานำเสนอ
โดยนางดลฤดี ได้มายื่นเอกสารเพื่อก่อสร้างอาคารเลขที่ 14/2554 ก่อสร้างที่พักอาศัยจำนวน 8 หลัง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดย อบต.ห้วยยาง ได้ออกใบอนุญาตให้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2554-6 กรกฎาคม 2555
นอกจากนั้น การแจ้งราคาในการซื้อขายที่ดินตามสัญญาต่ำกว่าราคาประเมินหลายล้านบาท ทำให้หน่วยราชการได้รับความเสียหายจากการประเมินภาษี และจะต้องสั่งให้ปลัด อบต.ห้วยยาง ตรวจสอบการเสียภาษีบำรุงท้องที่ และโรงเรือน ในการทำธุรกิจบ้านจัดสรรให้แก่ชาวต่างชาติในพื้นที่ ซึ่งมีกว่า 400 หลัง เชื่อว่าทุกโครงการจะมีการหมกเม็ด
นายธวัชชัย แดงฉ่ำ นายก อบต.ห้วยยาง กล่าวอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในระดับจังหวัดต้องออกมาร่วมกันแสดงความรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน หากมีการตรวจสอบย้อนหลังก็คงมีปัญหากับผู้ประกอบการในการเสียภาษี และ อบต. จะต้องตรวจสอบการเช่าซื้อบ้านพักอาศัยบางโครงการที่ให้ชาวต่างชาติเช่า เพียงเดือนละ 500 บาท ในขณะที่ราคาบ้านหลังละ 3-5 ล้านบาท
ด้านนางสาวคุลิกา คลับคล้าย ปลัด อบต.ห้วยยาง กล่าวว่า จากการตรวจสอบโครงการบ้านจัดสรรที่ให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดิน และเช่าสิ่งปลูกสร้าง โดยมีกำหนดการเช่า 30 ปี ชำระเงินในวันที่จดทะเบียน บริษัทที่ประกอบกิจการให้เช่าที่ดิน หรือเจ้าของโครงการ “หมู่บ้านฝรั่ง” มี 3 แห่ง โดยแยกเป็นชื่อโครงการต่างๆ เช่น โครงการหมู่บ้านออร์คิด 1-6 สำหรับการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ผู้ให้เช่าจะนำสำเนาหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดินมาเป็นหลักฐาน ประกอบการยืนแบบเพื่อประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ปลัด อบต.ห้วยยาง กล่าวอีกว่า ปัญหาที่พบคือ การเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน จะเรียกเก็บจากผู้ให้เช่าทรัพย์สินเป็นค่ารายปี 12.5% ช่วงเดือนมกราคม-เดือนมีนาคมของแต่ละปี เช่น บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ทำหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดิน มีกำหนด 30 ปี เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ค่าเช่า 180,000 บาท วันเริ่มสัญญา 2 ธันวาคม 2551 มีระยะเวลา 30 ปี โดยชำระค่าเช่าทั้งหมดในวันจดทะเบียน โดยภาษีโรงเรือนฯ จะคิดจากยอด 180,000x12.5% = 22,500 บาทต่อหนึ่งสัญญา ซึ่งบริษัทฯ จะจ่ายภาษีให้ อบต.จำนวน 750 บาทต่อปี ต่อหนึ่งสัญญา จนครบ 30 ปี แต่ปัจจุบัน บางบริษัทไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการฯ คาดว่าอาจมีการโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของที่ดินให้แก่ผู้เช่าไปแล้ว ทำให้ อบต.ห้วยยาง ไม่สามารถเก็บภาษีได้
“ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการชำระภาษีในเรื่องการซื้อขายที่ดินและการชำระภาษีของบริษัทต่างๆ ว่าเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ มีการเสียภาษีหรือไม่ และเมื่อบริษัทมีการซื้อขายที่ดิน หรือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้เช่าแล้ว จะชำระเงินค่าภาษีโรงเรือน ให้แก่ อบต.ห้วยยาง หรือจะเรียกเก็บภาษีจากผู้ให้เช่าได้อย่างไร” นางสาวคุลิกา กล่าว
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า การจ่ายภาษีในการโอนที่ดินสรรพากรได้โอนภารกิจให้สำนักงานที่ดินเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น ในการทำสัญญาซื้อขาย เจ้าหน้าที่ที่ดินจะต้องดำเนินตรวจสอบสภาพพื้นที่ และทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดในการแบ่งแยก โดยตรวจสอบว่าในที่ดินแปลงดังกล่าวมีสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นก็สามารถตรวจสอบย้อนหลังว่ามีเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามหลักการ และระเบียบวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้หรือไม่