จันทบุรี-ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากพายุฤดูร้อนพัดถล่มบ้านเรือนเสียหายกว่า 200 หลังคาเรือน และสวนผลไม้ทุเรียนของชาวบ้านกว่า 100 ตัน ใน 2 อำเภอ 7 ตำบล ขณะที่ทางจังหวัดเตรียมยื่นมือเข้าช่วยเหลือโดยการรับซื้อผลผลิตทุเรียนที่ถูกพายุพัดร่วงหล่นเสียหายในราคากิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์เบื้องต้น
วันนี้ (2 เม.ย.) นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เหตุพายุฤดูร้อนพัดถล่มบ้านเรือน และสวนผลไม้ใน 2 อำเภอ คือ อำเภอท่าใหม่ และอำเภอนายายอาม รวม 7 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลสนามไชย ตำบลกระแจะ ตำบลสองพี่น้อง ตำบลช้างข้าม ตำบลวังใหม่ ตำบลทุ่งเบญจา และตำบลวังตะโนด
ซึ่งทั้ง 2 อำเภอ 7 ตำบล มีบ้านเรือนของชาวบ้านได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อนกว่า 200 หลังคาเรือน และมีสวนผลไม้ทุเรียนหักโค่น ลูกร่วงหล่น เสียหายกว่า 100 ตัน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้มะไฟ ลำไย และกล้วยไข่ส่งออก เสียหายอีกเป็นจำนวนมาก
ในเรื่องนี้ นายวิชิตได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรอำเภอ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี อำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละท้องที่ เร่งให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน และเกษตรกรชาวสวนที่ได้รับความเดือดร้อนจากวาตภัยอย่างเร่งด่วน เพื่อที่ทางจังหวัดจะได้นำเงินชดเชย หรือวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ส่วนผลผลิตทุเรียนที่ร่วงหล่นเสียหายกว่า 100 ตัน ทางจังหวัดเตรียมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยการรับซื้อผลผลิตทุเรียนที่ได้คุณภาพ 80 เปอร์เซ็นต์ จากเกษตรกรชาวสวน ในราคา กิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการบรรเทาทุกข์ให้แก่เกษตรกรชาวสวนในเบื้องต้น
แต่ถึงอย่างไร ทางเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ใน 7 ตำบล 2 อำเภอ มีความต้องการอยากให้ทางจังหวัดได้เข้ามารับซื้อผลผลิตทุเรียนที่ร่วงหล่นเสียหาย ในราคากิโลกรัมละ 30 บาท เพราะเนื่องจากกิโลกรัมละ 10 บาท เกษตรกรชาวสวนผลไม้ไม่สามารถอยู่ได้ และไม่คุ้มทุนกับการลงทุนไป ไม่ว่าจะค่ายา ค่าปุ๋ย หรือค่าแรงงาน
ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี รับปากว่า จะนำเรื่องดังกล่าวกลับไปพิจารณาหาทางออกให้แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ หากสามารถรับซื้อได้ ทางจังหวัดก็จะรีบดำเนินการรับซื้อทันที แต่ถึงอย่างไร ทางจังหวัดได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่นำผลผลิตไม่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ มาขายให้แก่ทางจังหวัด ควรที่จะนำผลผลิตเหล่านั้นไปดำเนินการฝังกลบ และไม่ควรที่จะนำมาขายใหม่ หรือมีการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ
เนื่องจากจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการทำลายชื่อเสียงของจังหวัดจันทบุรีอีกด้วย หากทางจังหวัดพบว่า เกษตรกรชาวสวนผลไม้มีการนำผลผลิตที่ร่วงหล่นเสียหายไม่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์มาทำการขาย หรือ การส่งออก ทางจังหวัดก็จะไม่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรชาวสวนผลไม้ทันที และจะจับดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปอีกด้วย