xs
xsm
sm
md
lg

หมอกฝุ่นเชียงรายลด-แต่ยังเกินเกณฑ์เกือบ 2 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - หลายหน่วยงานเร่งเดินหน้าหนุนเกษตรกรไถกลบตอซัง ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย เพิ่มปุ๋ยในดินแทนเผา หวังลดวิกฤตหมอกควันอีกทาง ขณะที่คุณภาพอากาศเหนือฟ้าเชียงราย วันนี้ (22 มี.ค.) แม้ฝุ่นลดระดับ แต่ยังเกินเกณฑ์เกือบ 2 เท่าตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่า วันนี้ (22 มี.ค.) กรมควบคุมมลพิษได้รายงานการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 107.6 - 332.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ปริมาณฝุ่นละอองในหลายสถานีแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังคงสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน

ที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านหน้าสำนักงานสาธารณสุข อ.แม่สาย พบค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 332.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และที่หน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงราย อยู่ที่ 216.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าลดลงจากวันก่อนที่ อ.แม่สาย อยู่ที่ 470.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ อ.เมือง อยู่ที่ 241.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ด้านเทศบาลตำบลไม้ยา อ.พญาเม็งราย ร่วมกับเกษตร จ.เชียงราย สำนักงานพัฒนาที่ดิน จ.เชียงราย และฝ่ายปกครอง อ.พญาเม็งราย งานคลินิกเกษตรสัญจร และการขจัดตอซังข้าวที่ใช้ชื่อตามโครงการว่า "เกษตรฟ้าใสไร้หมอกควันเพื่อลมหายใจที่สดชื่น" โดยมีนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธาน ซึ่งนายสุเทพ ทิพย์รัตน์ เกษตร จ.เชียงราย แจ้งถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานตามโครงการว่า เพื่อลดมลภาวะหมอกควันและลดมลภาวะเป็นพิษในอากาศ ลดต้นทุนการผลิต และปรับโครงสร้างการปลูกพืช

นายสุเทพกล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้จุลินทรีย์ เพื่อสลายตอซังและฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวและเตรียมดินในฤดูเพาะปลูกใหม่ ทั้งเป็นการทดแทนการเผาที่ทำให้เกิดหมอกควัน ซึ่งได้ดำเนินโครงการในพื้นที่เป้าหมายของ จ.เชียงราย จำนวน 1,322,487 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 97,425 ราย

สำหรับกิจกรรมในโครงการ มีการจัดคลินิกเกษตรสัญจรเพื่อแนะนำเกษตรกรในเรื่องการแก้ปัญหาการทำเกษตร การเพิ่มผลผลิตและการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร โดยไม่ต้องเผาจนเกิดเป็นปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองดังกล่าว

ด้านนายธานินทร์กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาใหญ่ของจังหวัดมาโดยตลอด ปัจจุบันจึงได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบผู้ใดทำการเผาจะดำเนินคดีทางกฎหมายทันที

พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ที่ได้จากกากน้ำตาลมาทำการย่อยสลายฟางและตอซังข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวพืชผลมาทำการหมักจนเป็นปุ๋ยชีวภาพ จะช่วยแก้ไขปัญหาการเผาจนเกิดฝุ่นละอองฟุ้งได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูกโดยไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงด้วย





กำลังโหลดความคิดเห็น