ศรีสะเกษ - ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ สั่งเร่งตรวจสอบเอาผิดข้าราชการและกลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่กระทำความผิด บุกรุกป่าชุมชนและลักลอบตัดไม้พะยูง
วันนี้ (19 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมกรณี กลุ่มราษฎรเครือข่ายป่าชุมชนกว่า 300 คน นำโดย นายเพิ่ม โคตรเจริญ ประธานเครือข่ายป่าชุมชน จ.ศรีสะเกษ และ นายจำรัส พวงจำปา ประธานป่าชุมชนหนองเทา มารวมตัวชุมนุม ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เรียกร้องให้ทาง จ.ศรีสะเกษ เร่งดำเนินคดีเรื่องการบุกรุกป่าชุมชนหนองเทา อ.กันทรลักษ์ และการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ป่าชุมชนหลายแห่ง
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2552 ได้มีการบุกรุกป่าแผ้วถาง ตัดไม้ทำลายป่าในเขตพื้นที่ชุมชนหลายแห่งของ จ.ศรีสะเกษ โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งได้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ และดำเนินคดีกับผู้บุกรุกแล้ว และได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ปรากฏว่า ขณะนี้เวลาล่วงเลยมานานการดำเนินการมีความล่าช้ามาก กลุ่มราษฎรอาสาพิทักษ์ป่าจึงได้มารวมตัวกันเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าต่อ นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
นายจำรัส พวงจำปา ประธานป่าชุมชนหนองเทา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในวันนี้ตนพร้อมด้วยพี่น้องป่าชุมชนชาวศรีสะเกษ ได้มารวมตัวกัน เพื่อติดตามข่าวความคืบหน้าเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และเรื่องก็ได้เงียบหายไป ดังนั้น จึงได้รวมตัวกัน เพื่อมาสอบถามข้อเท็จจริง กับ ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ให้เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ และมีหลักฐานต่างๆ ที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐคนนี้มีความผิดจริงจึงอยากให้ ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ได้ดำเนินการทางด้านกฎหมาย และตามระเบียบของทางราชการไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นเรื่องที่ด่างพร้อยต่อระบบราชการไทย
นายเพิ่ม โคตรเจริญ ประธานเครือข่ายป่าชุมชน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า พวกตนต้องการสอบถามถึงความคืบหน้ากรณีเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2554 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ทำกินของนายสำเริง วิวาสุข ซึ่งเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 และอยู่ใกล้เขตป่าชุมชนป่าดงบก และในที่เกิดเหตุ พบไม้พะยูง ไม้เหลี่ยม จำนวน 3 เหลี่ยม และไม้พะยูงท่อน จำนวน 2 ท่อน อยู่ในรถบรรทุก 6 ล้อ ของกรมป่าไม้ โดยชาวบ้านได้พบ นายกฤษดา ศิริพันธ์ กับลูกน้องรวม 5 คน ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าศรีสะเกษที่ 6 (ศก.6) อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุด้วย ดังนั้นตนจึงได้ดำเนินการส่งเรื่องทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.น้ำเกลี้ยง ทำการสอบสวนและดำเนินการ แต่จนถึงขณะนี้ พบว่า คดีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด
นายเพิ่ม กล่าวต่อว่า การลักลอบตัดไม้พะยูงของชาวบ้านนั้น เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้โดยชัดเจน โดยมีหลักฐานชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ที่ตกเป็นผู้ต้องหา มีพฤติการณ์กระทำผิดจริง แต่เรื่องยังไม่มีความคืบหน้า การดำเนินคดีล่าช้ามาก และกลุ่มผู้ชุมนุมอยากทราบว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้วทำไมถึงล่าช้ามาก ซึ่งทางกลุ่มผู้นำชุมชนอยากจะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด
ล่าสุด ทราบข่าวว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่กระทำความผิดคนดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้รับการลงโทษแล้ว ยังได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจการป่าอยู่ที่ จ.นครราชสีมา อีกด้วย พวกตนรู้สึกไม่สบายใจต่อเรื่องนี้ จึงได้พากันมาร้องเรียนต่อ ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยด่วน
ทางด้าน นายบุญเหลี่ยม ทองคำ กำนัน ต.เมืองน้อย อ.กันทรารมย์ ตัวแทนของกลุ่มเครือข่ายป่าชุมชนบ้านหนองเทา กล่าวว่า พวกตนมาชุมนุมกันในวันนี้ เพื่อมาสอบถามความถึงคืบหน้าในการดำเนินคดีเกี่ยวกับผู้บุกรุกป่าชุมชน ซึ่งในปัจจุบันผู้กระทำความผิดยังใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติ โดยเฉพาะรายที่ศาลมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่คดีสิ้นสุดแล้ว ก็ยังเพิกเฉยอยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร ทางคณะกรรมการ อยากจะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่เข้ามาบุกรุกในพื้นที่ป่าโดยด่วนด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีสี มีอิทธิพลอย่างจริงจัง โดยขอให้ทางอำเภอได้กำกับ ดูแลอย่างจริงจัง ไม่ควรปล่อยปะละเลยอย่างที่ผ่าน ๆ มา
ขณะที่ นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวภายหลังรับหนังสือข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ทาง จ.ศรีสะเกษ จะได้เร่งตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือประชาชนทุกคน ไม่สามารถจะอยู่เหนือกฎหมายได้ คนที่กระทำความผิด ต้องได้รับโทษตามที่ได้กระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว จะต้องได้รับโทษสถานหนัก และ ตนขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษที่ได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาป่า ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญอีกด้านหนึ่งในการปกป้องผืนป่าของเรา ไม่ให้ถูกทำลาย