xs
xsm
sm
md
lg

มช.เปิดตัวเครื่องวัดปริมาณฝุ่น-เล็งขยายติดตั้ง “พร้าว-แม่แจ่ม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – นักวิจัย มช.เปิดตัวเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก เผยพัฒนาจากเครื่องต่างประเทศ-เพิ่มหน้าจอแสดงผลพร้อมไฟเตือนเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน นำร่องติดตั้ง 2 เครื่องใน มช.-สวนดอก พร้อมเล็งพัฒนาต่อให้แสดงผลออนไลน์ คาดอีก 3 เดือนขยายติดตั้งที่พร้าว-แม่แจ่ม ด้านหัวหน้าทีมวิจัยชี้ข้อมูลฝุ่นละอองในท้องถิ่นช่วยกระตุ้น ปชช.-รัฐจัดการปัญหาฝุ่นได้ผลยิ่งขึ้น

ผศ.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ และ ผศ.ศุภชัย ชัยสวัสดิ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพได้ประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งวิจัยเรื่อง การขยายผลการวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบสุขภาพสู่ชุมชน

ทั้งนี้ เพื่อการเรียนรู้และลดแหล่งกำเนิดฝุ่นในอากาศ ในชุมชนภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยการผลิตใช้ต้นแบบจากเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจากต่างประเทศ พร้อมทั้งทำการปรับปรุงเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องมือให้มีหน้าจอแสดงผลเป็นตัวเลขขนาดใหญ่ สามารถเห็นได้ชัดเจน พร้อมกับมีสัญญาณไฟกระพริบเตือน หากตรวจวัดพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน 120 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ตัวอย่างเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประดิษฐ์ขึ้น
ผศ.สุชาติ กล่าวว่า หลักการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าว คือ เมื่อมีฝุ่นควันลอยผ่านหัวคัดขนาดฝุ่น 10 ไมครอน ที่ติดอยู่กับเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก เครื่องจะนับปริมาณฝุ่นและแปลงค่าไปยังตัวควบคุม ก่อนที่จะแสดงผลออกมา ซึ่งหากมีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 120 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไฟจะกระพริบเป็นสีเหลือง และหากเกินไปมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไฟกระพริบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งจากการทดสอบคุณภาพโดยรวมถือว่าเทียบเท่ากับของต่างประเทศแล้ว แต่ราคาถูกกว่า 2-3 เท่า

ในปัจจุบันสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมีเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวน 7 เครื่อง ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ อ.เชียงดาว 3 เครื่อง ที่ อ.พร้าว อ.แม่แจ่ม อ.อมก๋อย และและในโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่อีกแห่งละ 1 เครื่อง ซึ่งผลการตรวจวัดที่ได้จะถูกนำมาใช้ประเมินเป็นผลงานวิจัยเท่านั้น แต่สำหรับเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้ง 2 เครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น ได้นำไปติดตั้งไว้ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่และที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นเครื่องต้นแบบในการพัฒนาไปสู่เครื่องรุ่นต่อไป
ผศ.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.สุชาติ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยเตรียมที่จะเพิ่มระบบเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตไว้ในเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถแสดงผลเชื่อมต่อกันในทุกพื้นที่ที่มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัด คาดว่า ภายใน 3 เดือน จะสามารถติดตั้งในพื้นที่เป้าหมาย คือ อ.พร้าว และ อ.แม่แจ่มได้

ขณะเดียวกัน ยังตั้งเป้าไว้ว่าจะพัฒนาเครื่องตรวจวัดให้ถึงระดับที่สามารถควบคุมตัวเครื่องจากระยะไกล และสามารถสั่งการเครื่องให้ทำงานใหม่ได้โดยไม่ต้องลงไปตรวจสอบในพื้นที่ด้วยตัวเองหากเครื่องขัดข้องหรือเกิดข้อผิดพลาดขึ้น คาดว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีสำหรับการพัฒนาระบบดังกล่าว

ด้าน ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโส หน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการ ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า ประชาชนมักเกิดความตื่นตัวเมื่อเห็นฝุ่นควันที่มองเห็นได้ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วฝุ่นควันเกิดขึ้นตลอดทั้งปี ทำให้การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าขาดความต่อเนื่อง แต่หากมีข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบว่าจะวางแผนการลดปริมาณฝุ่นในแต่ละท้องถิ่นลงได้อย่างไร รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้ประชาชน ตลอดจนผู้บริหารในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเกิดหมอกควันไฟป่าหันมาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ดร.ทิพวรรณ กล่าวต่อไปว่า ตามแผนที่ได้หารือกับจังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนจะมีการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำนวน 52 เครื่องในปี 2556 และดำเนินการต่อเนื่องในลักษณะเดียวกันนี้ไปถึงปี 2559 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนก็จะมีเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กครบทุกอำเภอ
กำลังโหลดความคิดเห็น