xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหารเขื่อนภูมิพลแจงคนใช้น้ำ ปีหน้าเสี่ยงแล้งหลังปล่อยน้ำตามคำสั่งรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- ผู้บริหารเขื่อนภูมิพลตั้งโต๊ะแจงผู้ใช้น้ำใต้เขื่อน หวั่นหลังพร่องน้ำตามคำสั่งรัฐบาล แต่เกิดน้ำเข้าเขื่อนน้อย ปีหน้าอาจมีน้ำให้ใช้ได้แค่ 5 เดือนเท่านั้น เกษตรกรเสี่ยงเดือดร้อน เตือนให้ผู้ใช้น้ำเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (5 มี.ค.) ว่า นายวรวิทย์ รวีนิภาพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล ฝ่ายบริหาร พร้อมผู้ปฏิบัติงานได้เดินทางไปพบผู้ใช้น้ำจังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชี้แจงเรื่องการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใช้น้ำในลุ่มน้ำปิง จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพลบริหารจัดการน้ำตามนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ระบายน้ำวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรทุกวัน จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2555 โดยวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จะต้องมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45% ของความจุอ่างเก็บน้ำ เพื่อรองรับน้ำใหม่ที่จะมาต้นฤดูฝนนี้

ปริมาณน้ำ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำที่ใช้งานได้ 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร (เขื่อนภูมิพลมีระดับน้ำกักเก็บสูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร) ถ้าปีนี้แล้ง และมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลน้อย ปีหน้าจะมีน้ำที่สามารถใช้งานได้แค่ 5 เดือน คือ ระบายได้วันละประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีข้อกังวลว่า ถ้าหากปีนี้แล้ง ในปีหน้าก็จะเกิดปัญหาการขาดน้ำอีก บางพื้นที่ก็จะลำบากมาก เช่น อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ขอให้ผู้ใช้น้ำทุกคนใช้น้ำอย่างเห็นอกเห็นใจกัน ในส่วนของพื้นที่ทำกินจังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ทำกินมาก ใช้น้ำมากที่สุด และใช้ก่อนใคร ก่อนที่จะใช้น้ำก็ให้คิดถึงคนท้ายน้ำว่า เขาก็ต้องการน้ำเหมือนกัน ดังนั้นเราจะต้องร่วมมือกันแบ่งปันน้ำกันใช้

ส่วนสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพลปัจจุบันมีน้ำกักเก็บทั้งสิ้น 9,143 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 67.91 เปอร์เซ็นต์ สำหรับวันนี้เขื่อนภูมิพล ระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำล่วงหน้าในฤดูแล้ง ลดการระบายน้ำในฤดูฝน ตามยุทธศาสตร์ กยน.จำนวน 60.00 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ระบาย 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพลยังสามารถรับน้ำได้อีก 4,319 ล้านลูกบาศก์เมตร


กำลังโหลดความคิดเห็น