เชียงราย - คณะกรรมการการเลือกตั้งเชียงราย หวั่นศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ตามด้วยสนามเทศบาลนครเชียงราย 2 ขั้วการเมืองใหญ่เล่นกันแรง แถมมีศึกเสื้อแดงกับเพื่อไทย แข่งกันด้วย เร่งมือสร้างเครือข่ายภาค ปชช.จับทุจริตเลือกตั้งเต็มที่
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า บรรยากาศการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย เริ่มคึกคักขึ้นตามลำดับ เนื่องจากนางรัตนา จงสุทธนามณี นายก อบจ.เชียงรายคนปัจจุบันจะหมดวาระลงราวกลางเดือนเมษายน 55 นี้
โดยมีว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.จากกลุ่มการเมืองหลากหลายกลุ่มที่เริ่มแสดงตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว มีการป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรมและแนวคิดรวมทั้งป้ายหาเสียง ซึ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดในขณะนี้คือ ป้ายประชาสัมพันธ์ผลงานของผู้บริหาร อบจ.เชียงราย ชุดปัจจุบัน ป้ายของนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภรรยานายยงยุทธ ติยะไพรัช นักการเมืองชื่อดัง และป้ายของนายสุวิทย์ แก้วพนัส นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่กรณ์ อ.เมือง ซึ่งประกาศตัวจะลงสมัครในเวทีนี้มานานแล้ว
ส่วนคนอื่นๆ ยังไม่มีการขึ้นป้ายอย่างโดดเด่นโดยมีเพียงการประกาศตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งคราว เช่น กลุ่มคนเสื้อแดงบางกลุ่ม ฯลฯ หรือว่าที่ผู้สมัครบางคนมีแต่กระแสว่าจะลงสมัครเท่านั้นแต่ยังไม่เปิดตัวหรือหาเสียงใดๆ
ด้าน นายนิรันดร์ คำเสมานันท์ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชียงราย เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า กกต.เองก็รู้สึกหนักใจในการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ในครั้งนี้มากเช่นกัน เพราะผู้สมัครบางคนถือว่าเป็นกลุ่มการเมืองใหญ่จาก 2 ขั้วที่ต้องทุ่มสรรพกำลังเพื่อแข่งขันกันอย่างหนัก ซึ่งการแข่งขันกันก็ถือเป็นสิ่งที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องไม่มีความรุนแรง และต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย และหลังการเลือกตั้งนายก อบจ.ยังมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงรายต่อเนื่องด้วย ซึ่งก็เป็นการแข่งขันกันจาก 2 ขั้วใหญ่เช่นเดียวกันด้วย
ดังนั้น ก่อนการเลือกตั้ง กกต.จึงมีการวางแผนเชิงรุกเพื่อรองรับการเลือกตั้งทั้ง 2 ระดับอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยมีการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน รุดให้ความรู้ จัดชุดปฏิบัติการหาข่าวเกี่ยวกับทุจริตการเลือกตั้ง ประสานงานและอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับ โดยเฉพาะการเลือกตั้งระดับ อบจ.ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งละประมาณ 2,000 คน รวมทั้งจังหวัด 18 อำเภอก็จะใช้ร่วม 20,000 คน
เมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้งต่างๆ แล้วเสร็จแล้วก็จะมีการจัดประเมินสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งโดยตามกฎหมายจะกำหนดเอาไว้ให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่คนเก่าหมดวาระลง
สำหรับการทุจริตการเลือกตั้งหรือละเมิดกฎหมายเลือกตั้งช่วงนี้นั้นก็เริ่มตรวจสอบกันเลยโดยไม่กังวลเรื่องผู้ที่ยังดำรงตำแหน่งแล้วจะออกมาหาเสียงเลือกตั้งในกรอบต้องห้าม 60 วันก่อนการเลือกตั้งมากนัก แต่ก็เฝ้าจับตาดู เพราะกรณีนี้มักจะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งว่าที่ผู้สมัครที่เป็นคนทั่วไปที่ยังไม่ได้เข้าไปบริหารงานก็ต้องมีการตรวจสอบด้วยว่ามีการร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการช่วยหาเสียงตามกรอบเวลาดังกล่าวด้วยหรือไม่ด้วย ซึ่งหากมีก็ถือว่าเข้าข่ายความผิดเหมือนกัน
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดเชียงราย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศเยอรมันนี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดการอบรมสัมมนาเรื่องสื่อการเรียนรู้ประชาธิปไตย ณ ห้องประชุมมณีไตรรงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยมีนักศึกษาและพระสงฆ์เข้าร่วมรับฟังประมาณ 60 คน และมี ดร.ประนอม แก้วระคน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นประธานในพิธีเปิดโดย ดร.พิมพ์รภัส ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการมูลนิธิฯ นำคณะเจ้าหน้าที่และวิทยากรเข้าร่วม ซึ่งเนื้อหาของการจัดอบรมสัมมนามุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมรับรู้ถึงบทบาทของมูลนิธิ ความสำคัญและเนื้อหาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ผ่านกิจกรรมและวิทยากรที่ไปให้ความรู้
นายนิรันดร์ ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานนี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมายืนยันว่า กกต.ทำมาแล้วหลากหลายรูปแบบ โดยบางครั้งเมื่อได้รับแจ้งว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงถึงขั้นปลอมตัวไปตรวจสอบ แต่เมื่อมีการสอบถามพยานที่รู้เห็นแต่ละคนต่างก็ปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นและไม่มีส่วนร่วมในการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การจะกล่าวโทษนักเลือกตั้งและเอาผิดด้วยการให้ใบเหลืองและใบแดงเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก นอกจากนี้ ยอมรับว่าบางครั้งอิทธิพลของนักการเมืองก็ทำให้เจ้าหน้าที่ กกต.ลำบากใจเช่นกัน
ยกตัวอย่างถ้าเขาซื้อเสียงใน 1 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 300 คน จ่ายให้คนละ 500 บาท ก็จะเป็นเงินทั้งหมู่บ้านประมาณ 150,000 บาท ถ้าทั้งเขตเลือกตั้งมีประมาณ 60-100 หมู่บ้านก็จะเป็นเงินร่วม 10-30 ล้านบาทแล้วแต่การแข่งขัน ซึ่งถ้าหากว่าเขาลงทุนไปแล้วร่วม 30 ล้านบาทแล้ว กกต.เกิดให้ใบเหลืองหรือใบแดงก็จะทำให้เงินจำนวนนี้ของเขาสูญไปเลย แน่แน่นอนว่าเป็นเหตุให้คนทำรอบคอบขึ้น ตรวจจับได้ยาก และหากถูกกระทำก็จะโกรธแค้นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรมทั่วไปที่เป็นเงินเพียงหลักแสนก็ฆ่ากันแล้วก็ยิ่งเปรียบเทียบได้ชัดเจน
ดังนั้น นับจากนี้ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับ กกต.ให้มากขึ้น เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่ของ กกต.แต่เป็นของเจ้าของอำนาจของประเทศที่จะต้องมาร่วมกัน โดยการแก้ไขปัญหาอุปสรรคตามที่กล่าวมาคือการร่วมกันหาข้อมูล หลักฐาน พยาน ฯลฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ซึ่งหากว่ามีความชัดเจนและเราร่วมกันทั้งหมดแล้วทาง กกต.ยืนยันว่าพร้อมจะสู้เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม