ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อธิบดีกรมสุขภาพจิต จี้รัฐแจงมาตรการความปลอดภัยแก่ ปชช.ให้ชัดเจน กรณีเหตุระเบิดกลางกรุง เพื่อลดความวิตกกังวลในความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน แนะ ปชช.อย่าตื่นตระหนกจนเกินเหตุ ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ และขอให้ความร่วมมือ-เชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐ เผยเด็กไทยป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นปีละ 8 แสนคน
วันนี้ (23 ก.พ.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่แผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานพิธีเปิด “คลินิกสมาธิสั้น” สถานพยาบาลรักษาและบำบัดผู้ป่วยเด็กโรคสมาธิสั้น โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ระหว่าง เวลา 08.30-12.00 น.
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า โดยทั่วไปสภาพปัญหาในเด็กจะมีเด็กสมาธิสั้นประมาณ 10% ซึ่งในปีหนึ่งประเทศไทยมีเด็กเกิดประมาณ 8 แสนคน ฉะนั้น จะมีเด็กในกลุ่มสมาธิสั้นประมาณ 80,000 คน หากเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแล หรือรักษาตั้งแต่ต้นในอนาคตก็จะกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมีความรุนแรงเกิดขึ้นทางสังคม ในสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า ส่วนใหญ่เด็กที่เข้าไปอยู่ตรงนั้น ซึ่งเป็นส่วนปลายพบว่ามีส่วนสำคัญกับสมาธิสั้น ดังนั้น หากเราสามารถค้นหา คัดกรองได้ตั้งแต่ต้นอยู่ในวัยเรียนและให้การบำบัดรักษา จะทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติและไม่เป็นปัญหากับสังคมได้
สำหรับโรคสมาธิสั้นนั้น คือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก พบได้บ่อยโดยความชุกของโรค คิดเป็นร้อยละ 5-10 ของประชากรทั่วไป อาการที่พบในเด็กสมาธิสั้นคือ ขาดสมาธิ, ซนอยู่ไม่นิ่ง, หุนหันพลันแล่น การรักษาทำได้โดย รักษาด้วยยา, การปรับพฤติกรรม การดูแลโดยครอบครัว, การช่วยเหลือทางด้านการเรียน โรคสมาธิสั้นนั้น มีผลกระทบต่อพฤติกรรมซน ก้าวร้าว ใจร้อน หงุดหงิดง่าย การเรียนตกลงและมีปัญหาในการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก เป็นเด็กป่วนของครู เด็กดื้อของพ่อแม่ เพื่อนไม่อยากเล่นด้วย เนื่องจากมักจะแกล้งเพื่อน ต่อมาทำให้เป็นปัญหาไม่อยากไปโรงเรียน และออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร ทำให้เสี่ยงต่อการมีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น ติดยาเสพติดหรือก่ออาชญากรรมอื่นๆ
นพ.ณรงค์ ยังกล่าวถึงกรณีเหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้าย มีผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนชาวไทย ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนแน่นอน โดยเฉพาะความกังวลด้านความไม่ปลอดภัยของชีวิตและความเป็นอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐจะต้องออกมาพูดถึงมาตรการความปลอดภัยว่าจะดูแลอย่างไร หากภาครัฐได้ออกมาพูดให้ชัดเจนก็จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ความรู้สึกก็จะดีขึ้นและความกังกลหรือความไม่มั่นคงก็จะลดน้อยลงไป
ในส่วนของประชาชนกรมสุขภาพจิตขอแนะนำให้ติดตามข้อมูลข่าวสารมีสติไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ที่สำคัญคือ หากภาครัฐมีมาตรการอะไรที่อาจจะรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ เช่นการตั้งด่านตรวจต่างๆ ก็จะต้องให้ความร่วมมือ และขอให้เชื่อมั่นใจรัฐว่าจะสามารถดูแลเรื่องนี้ได้