xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรแปดริ้วเผยพื้นที่ปลูกมะม่วงลด แต่ยอดส่งออกพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐุ์  เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา
ฉะเชิงเทรา - เกษตรกรแปดริ้ว เผยตัวเลขยอดเตรียมส่งออกมะม่วง ปีนี้พุ่งสูงสุด อย่างน้อยมีออเดอร์รอไว้แล้วมากถึง 2.8 พันตัน เชื่อ ทุบสถิติมากกว่าทุกปี สวนทางกับพื้นที่การเพาะปลูกหลังน้ำท่วมหดหายลดลงมากถึงกว่าครึ่ง เผย เกษตรกรส่วนใหญ่เบนหาอาชีพใหม่ หันไปทำสวนยางเพิ่มขึ้น ประกอบการย้ายฐานการผลิตมะม่วงขึ้นที่สูง

วันนี้ (20 ก.พ.) นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐุ์ เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยถึงการคาดการณ์ตัวเลขของการส่งออกผลิตภัณฑ์มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ซึ่งเป็นผลผลิตขึ้นชื่อทางการเกษตรระดับโลกของชาวสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา ในปีนี้ ว่า ขณะนี้ได้มีบริษัทภาคเอกชน ผู้ส่งออกมะม่วงได้เตรียมเข้ามาทำสัญญาจองผลผลิตจากเกษตรกรไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ประมาณ 2,800 ตัน

ทั้งนี้ ได้ทำสัญญาการซื้อขายล่วงหน้าผ่านทางสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปแล้วจำนวน 1 พันตัน เพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศในกลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย และยังจะมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากันอีกส่วนหนึ่ง ระหว่างผู้ส่งออกมะม่วงกับทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก อีกจำนวน 1.8 พันตัน ไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และ มาเลเซีย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการวางแผนการลงนาม โดยยังไม่รวมยอดการส่งออกไปจำหน่ายของผู้ส่งออกอิสระโดยตรงอีกจำนวนหนึ่งด้วย

จึงเชื่อว่า ในปีนี้ชาวสวนมะม่วงแปดริ้ว จะสามารถส่งออกผลผลิตมะม่วงไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้มากถึง 2.8 พันตันเป็นอย่างน้อย ในช่วงของการส่งมอบก่อนสิ้นเดือน เม.ย.55 นี้ ซึ่งการเติบโตในภาพรวมของการส่งออกนั้นจะเติบโตขึ้นจากปีก่อนอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ คือ เมื่อปีการส่งมอบก่อนสิ้นเดือน เม.ย.2554 นั้น เคยมียอดส่งออกไปจำหน่ายสูงสุดที่ 2,856 ตัน และในช่วงเดียวกันของปี 2553 เคยมีการส่งออกสูงสุดที่ 1,338 ตัน

ขณะที่พื้นที่การผลิตนั้นลดต่ำลงเป็นอย่างมาก หลังจากน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายไปส่วนหนึ่ง และเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนอาชีพการเพาะปลูก จากสวนมะม่วงได้หันไปปลูกทำสวนยางพาราทดแทนกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานั้น ยางพาราขายได้ราคาดีกว่า จนทำให้พื้นที่การปลูกมะม่วงภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา จากเดิมเมื่อปี 2553 ที่เคยมีจำนวน 70,159 ไร่ จนมาถึงในปี 2554 เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาเหลือพื้นที่เพียง 41,248 ไร่ และมาในปีนี้พื้นที่ได้ลดลงไปอีก จนเหลือเพียงแค่ 34,636 ไร่

อย่างไรก็ตาม แม้พื้นที่การเพาะปลูกมะม่วงในจังหวัดฉะเชิงเทรา จะลดลงไปมากก็จริง แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อยอดรวมการผลิตมะม่วงมากนัก เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนมะม่วงอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก และสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา ได้พากันไปหาซื้อดินเพื่อทำการเพาะปลูกเพิ่มเติมไว้แล้ว และได้สร้างเครือข่ายการผลิตมะม่วงไว้เป็นจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ทั้ง ปราจีนบุรี สระแก้ว และ จันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่า จ.ฉะเชิงเทรา มาก และปลอดภัยจากน้ำท่วมมากกว่าอีกด้วย จึงทำให้ยอดการผลิตมะม่วงส่งออกโดยรวมนั้นไม่ลดลงแต่อย่างใด

ส่วนการระบายผลผลิต นอกเหนือไปจากการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานมหกรรมมะม่วงในท้องถิ่น หลากหลายรูปแบบประจำอำเภอต่างๆ และยังได้มีการนำผลผลิตมะม่วงไปออกร้าน จัดงานแสดงมหกรรมสินค้าตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น งานเทศกาลมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-17 ก.พ.55 ที่ผ่านมา ที่บริเวณห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์บางกะปิ และที่แฟชั่นไอส์แลนด์ ระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค.55

นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดงานเทศกาลในพื้นที่อีกหลากหลายงาน เช่น งานวันมะม่วงและของดี อ.พนมสารคาม ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 ก.พ.55 นี้ และงานเทศกาลมะม่วงและของดีบางคล้า ที่เตรียมจะจัดขึ้นอีกในวันที่ 2-22 มี.ค.55

ขณะเดียวกัน ยังจะมีงานเทศกาลมะม่วงงานใหญ่ประจำจังหวัดอีกครั้ง คือ งานวันมะม่วง และของดีเมืองแปดริ้ว ที่จะจัดขึ้นภายในตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 6-17 เม.ย.55 อีกด้วย จึงทำให้การระบายผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาด ของชาวสวน จ.ฉะเชิงเทรานั้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องมาโดยตลอด




กำลังโหลดความคิดเห็น