ฉะเชิงเทรา - ผลพวงจากน้ำท่วมใหญ่ส่งผลกระทบระยะยาวต่ออาชีพทำกินขั้นพื้นฐานของชาวแปดริ้วพังเสียหายยับเยิน โดยเฉพาะชาวสวนมะม่วง ขณะชาวบ้านโอดวันเวลาหลังน้ำลดผ่านพ้นไปนานนับเดือน แต่ยังไร้การเยียวยาช่วยเหลือ
วันนี้ (21 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายหลังจากอุกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ได้ผ่านพ้นไป ในพื้นที่ภาคเกษตรกรรมที่ถือเป็นรายได้หลักของชาว อ.คลองเขื่อน และบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา อีกอาชีพหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่เชิดหน้าชูตาของทางจังหวัด และสร้างรายได้จากการส่งผลผลิตออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศถึงปีละหลายร้อยล้านบาท เนื่องจากสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ของชาว จ.ฉะเชิงเทรา นั้น มีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลทั่วโลก
จนหลายประเทศที่เป็นลูกค้าหลักอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ต้องมาทำสัญญาการซื้อขายก่อนล่วงหน้าในทุกปี ก่อนถึงฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาด แต่ในปีนี้พื้นที่ปลูกมะม่วงส่งออกกลับถูกน้ำท่วมเสียหายหมดทั้งอำเภอ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อ.คลองเขื่อน นั้น สวนมะม่วงส่วนใหญ่อยู่ใต้แนวน้ำทิ้งจากทางภาคเหนือเลียบติดกับชายแม่น้ำบางปะกงได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมดถึงกว่าร้อยละ 90 จึงส่งผลทำให้ในปีนี้ และในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าจะไม่มีมะม่วงน้ำดอกไม้สายพันธุ์ชั้นเลิศที่ชนะการประกวดมาเกือบทุกเวทีส่งออกจำหน่ายสู่ตลาดอีกต่อไป
โดย นางประจวบ มงคล อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93/1 ม.3 ต.คลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมา หลังแม่น้ำบางปะกงถูกสูบปล่อยระบายผันน้ำจากทางภาคเหนือมาใส่เป็นจำนวนมาก จนทำให้พื้นที่แถบชายแม่น้ำบางปะกงแห่งนี้ มีระดับน้ำท่วมสูงถึงกว่า 1-2 เมตร แช่อยู่เป็นเวลานานนับเดือน จึงทำให้สวนมะม่วงของชาว อ.คลองเขื่อน เกือบทั้งอำเภอนับร้อยราย ถูกน้ำท่วมไปด้วย และมะม่วงทั้งสวนยืนต้นตายตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์แรกที่ถูกน้ำท่วม ก่อนที่ใบจะแห้งจนแดงไปทั่วทั้งสวนหลังจากน้ำลดเกินกว่าจะเยียวยากลับคืนมาได้ เกษตรกรจึงจำเป็นต้องโค่นทิ้งหมดทั้งสวน
ซึ่งนับจากนี้ต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้าชาวบ้านจะไม่มีรายได้อะไรเข้ามาเลี้ยงครอบครัวอีกแล้ว เพราะมีอาชีพทำสวนมะม่วงมาอย่างยาวนานกว่า 40-50 ปีแล้ว ก็ได้แต่รอการเยียวยาจากรัฐบาลที่ยังไร้วี่แววว่าจะได้รับการช่วยเหลือลงมาถึงยังชาวบ้าน โดยที่ผ่านมามีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่างในตำบลเข้ามาทำการจดรายชื่อ และสำรวจพื้นที่ความเสียหายไป แต่เรื่องก็ยังเงียบหาย โดยมีการตอบกลับว่าจะได้รับความช่วยเหลือในเร็วๆ นี้ เพียงในส่วนของบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมรายละ 5 พันบาทเท่านั้น ส่วนความช่วยเหลือทางด้านอาชีพ ที่พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายนั้น ยังไร้วี่แววการตอบกลับมาจากหน่วยงานภาครัฐ
ที่ผ่านมา ได้ยินแต่เพียงนโยบายจากรัฐบาลในการช่วยเหลือ ว่า จะช่วยชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกร ไร่ละ 5,090 บาท ซึ่งเบื้องต้นชาวบ้านก็ยังพึงพอใจดีกว่าเสียหายแบบสูญเปล่าไม่ได้อะไรเลย และยังหวังว่า จะได้นำกลับมาเป็นทุนในการเริ่มต้นฟื้นอาชีพใหม่ แต่มาถึงขณะนี้น้ำได้ลดลงแห้งหายไปนานกว่า 1 เดือนแล้วเรื่องก็ยังเงียบ จึงอยากฝากไปถึงยังรัฐบาลให้ช่วยเร่งเยียวยาดำเนินการตามนโยบายในการให้ความช่วยเหลือให้เร็วหน่อย เนื่องจากคนในครอบครัวต้องกินใช้ไปทุกวัน
นางประจวบ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาครอบครัวของตนนั้นมีรายได้จากการทำสวนมะม่วงถึงปีละ 300,000 บาท จากการทำสวนมะม่วงบนพื้นที่ 18 ไร่ มีมะม่วงที่ให้ผลผลิตได้แล้วจำนวน 600 ต้น และเพิ่งปลูกแซมขึ้นใหม่อีกกว่า 1,000 ต้นนั้น ได้ถูกน้ำท่วมตายไปทั้งหมด จึงทำให้ในปีนี้ และอีก 4 ปีข้างหน้านั้น ครอบครัวของตนจะไม่มีรายได้อะไรเข้ามาเลี้ยงครอบครัวอีก เพราะอาชีพทำสวนมะม่วงนั้น ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 4 ปีขึ้นไปจึงจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว เพราะหากลงทุนปลูกมะม่วงใหม่จะต้องใช้เวลานานถึงกว่า 4 ปี จึงจะเริ่มได้ผลผลิต และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อกล้าพันธุ์ใหม่อีกต้นละ 40-50 บาท และยังมีค่าปุ๋ย ค่ายา อีกอย่างน้อย 5 กก.ต่อต้นด้วยเช่นกัน