xs
xsm
sm
md
lg

ท้องฟ้าภาคเหนือตอนบนเริ่มโล่ง-ฝุ่นลด ยกเว้น “แม่สาย” ยังเกินเกณฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่/เชียงราย - สภาพอากาศหลายจังหวัดภาคเหนือเริ่มดีขึ้น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ลดระดับลงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทุกท้องที่ ยกเว้น “แม่สาย” ยังเกินเกณฑ์ หลังสัปดาห์ก่อนเจอฝุ่นควันคลุ้งทุกจังหวัด

รายงานผลตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือของกรมควบคุมมลพิษ ที่ปรากฏในเว็บไซต์ http://aqmthai.com/ วันนี้ (20 ก.พ.55) ระบุว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 36.4-120.1 ไมโครกรัม/ลบ.ม.คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับดี ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง

ยกเว้นสถานีสาธารณสุขแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ยังพบฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอยู่

กรมควบคุมมลพิษ ยังคงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการลด และควบคุมการเผาในที่โล่งอย่างเร่งด่วนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเผาริมทาง งดการเผาในพื้นที่ป่า และไฟป่า รวมถึงขอความร่วมมือจากประชาชนงดการเผาขยะ เศษวัสดุการเกษตร และกิ่งไม้ใบหญ้า เพื่อลดระดับสถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นต่อไป

ทั้งในห้วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ หลายจังหวัดของภาคเหนือ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง ล้วนแต่ประสบปัญหาหมอกควันในอากาศสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.แทบทุกพื้นที่ โดยบางจังหวัด เช่น ลำปาง แพร่ ลำพูน ตรวจพบระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ในอากาศมากเกือบ 200 ไมโครกรัม/ลบ.ม.บางจุดสูงเกิน 200 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ด้วย หรือสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานกว่า 2 เท่าตัว

สำหรับพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่วันนี้ (20 ก.พ.) เป็นเพียงพื้นที่เดียวที่มีระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน แต่ก็เกือบเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะระดับมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพอยู่ที่ 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังกันต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่แม่สาย เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองอันเกิดจากการเผาป่าทำไร่ตามตะเข็บชายแดนและไฟไหม้ป่าเป็นประจำทุกฤดูแล้ง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศมาโดยตลอด

โดย นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยังคงมีประกาศเกี่ยวกับป้องกันปัญหาดังกล่าวอยู่โดยมีเนื้อหา ว่า ในฤดูแล้งของทุกปี มักจะเกิดไฟป่าขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำความเสียหายแก่ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการระดมกำลัง เจ้าหน้าที่ เครื่องมือเครื่องใช้และยานพาหนะ เข้าระงับไฟป่าเป็นจำนวนมากอีกด้วย

สาเหตุประการหนึ่ง เกิดจากเผาไร่ เผาฟางข้าว ซังข้าวโพด หญ้าและวัชพืชในที่ดินทำกินของเกษตรกรที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก โดยไม่มีการควบคุม ในที่สุดไฟก็ไหม้ลุกลามเข้าไปในป่ากลายเป็นไฟป่า

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากไฟป่าดังกล่าว อีกทั้งให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า จังหวัดจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดพื้นที่เขตควบคุมไฟป่าและกำหนดมาตรการในการป้องกันไฟป่า โดยภายในพื้นที่เขตควบคุมไฟป่าต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

เช่น หากต้องเผาไร่ วัชพืชในที่ดินทำกิน ให้ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวต้องขออนุญาตจากกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ในเขตการปกครองท้องที่นั้นๆ ก่อนที่จะดำเนินการทุกครั้ง พร้อมกับต้องจัดทำแนวกันไฟและควบคุมไฟมิให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ โดยให้ประสานงานกับคณะกรรมการจัดการไฟป่าระดับหมู่บ้านหรือ ระดับตำบลหรือหน่วยงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อจัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย

ประกาศระบุอีกว่า หากราษฎรผู้ใดไม่แจ้งขออนุญาตต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือขออนุญาตแล้วแต่ไม่จัดทำแนวกันไฟ และมิได้ควบคุมไฟให้อยู่ในพื้นที่ที่ตนถือครอง จนเป็นเหตุให้ไฟลุกลามไหม้ป่า ให้กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินคดีตามกฎหมายแก่ราษฎรที่ฝ่าฝืน หรือปล่อยปละละเลยโดยเฉียบขาดทุกราย โดยเฉพาะราษฎรที่บุกรุกเข้าไปแผ้วถางป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จังหวัดจะพิจารณาใช้นโยบายอพยพราษฎรผู้บุกรุกพื้นที่ดังกล่าวออกจากป่าตามที่เห็นสมควร และจะดำเนินคดีตามความผิดที่เกิดขึ้น

กรณีอยู่ในเขตควบคุมไฟป่า หากพบเห็นไฟไหม้ป่าบริเวณใด ราษฎรต้องให้ความร่วมมือช่วยกันดับไฟในเบื้องต้น ไม่ให้ไฟขยายเป็นวงกว้าง หากไฟรุนแรงไม่สามารถดับได้ ให้รีบแจ้งคณะกรรมการควบคุมไฟป่าประจำหมู่บ้าน (ถ้ามี) เพื่อจัดอาสาสมัครป้องกันไฟป่าประจำหมู่บ้านออกดำเนินการดับไฟ และประสานกับหน่วยดับไฟป่าต่อไป

ขณะเดียวกัน หากมีการจุดไฟเผาป่า หรือให้ไฟลุกลามเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาท และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัสดุใดๆ แม้จะเป็นของตนเองแต่เป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น