เพชรบุรี - สัตว์ลึกลับบุกวนอุทยานเขานางพันธุรัตน พชรบุรี ปีนกรงกัด "เนื้อทราย" ตาย 5 ตัว เจ้าหน้าที่คาดเป็น "เสือดำ" หลังตรวจสอบบริเวณโดยรอบพบรอยเท้าขนาดใหญ่กว้างประมาณ 7 ซม.ยาว 10 ซม.หลายรอย และอุจจาระ เก็บหลักฐานส่งพิสูจน์เป็นของสัตว์ชนิดใด พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดหวังจับสัตว์ลึกลับจะแอบเข้ามากินเนื้อทรายอีก
วันนี้ (14 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่วนอุทยานเขานางพันธุรัตน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังทราบข่าวว่า มีเนื้อทราย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถูกสัตว์ป่าที่คาดว่าน่าจะเป็นเสือดำทำร้ายกัดกินจนเสียชีวิตรวมทั้งหมด 5 ตัว โดย 4 ตัวที่พบเหลือเพียงซากที่มีร่องรอยของการถูกกัดบริเวณลำคอและถูกแทะกัดกินเนื้อไปบางส่วน โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้นำไปฝังทำลายซากไปก่อนหน้านี้แล้ว
นอกจากนี้ ยังพบว่ายังมีเนื้อทรายอีก 1 ตัวถูกกัดได้รับบาดเจ็บบริเวณโคนขาหลังด้านซ้ายอีก 1 ตัว ทางเจ้าหน้าที่ได้นำตัวส่งไปพร้อมกับเนื้อทรายที่ยังมีชีวิตรอดอยู่รวมทั้งสิ้น 5 ตัว โดยมีตัวใหญ่เพศผู้ 3 ตัวและตัวเล็กซึ่งเป็นลูกน้อยอีก 2 ตัวไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยดูแล โดยเจ้าหน้าที่งานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าได้ทำการเลี้ยงดูและรักษาบาดแผลให้ อย่างไรก็ตาม เนื้อทรายตัวที่ได้รับบาดเจ็บได้เสียชีวิตลงหลังเข้ามาอยู่ได้เพียง 1 วันเท่านั้น เนื่องจากบาดแผลที่ถูกกัดเริ่มเน่า มีหนอง เกิดการอักเสบและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการฝังซากไปแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบวนอุทยานเขานางพันธุรัตน พบรอยอุ้งเท้าขนาดใหญ่ของสัตว์ชนิดหนึ่ง มีความกว้างประมาณ 7 ซม.ยาว 10 ซม.จำนวนหลายรอยด้วยกันอยู่บริเวณรอบๆ กรงที่ใช้เลี้ยงเนื้อทราย นอกจากนี้ ยังพบกองอุจจาระที่คาดว่าเป็นของเสือดำ ซึ่งจากการตรวจสอบอุจจาระพบว่ามีขนและกระดูกของสัตว์ที่เสือกินเข้าไปแล้วถ่ายมูลทิ้งไว้ เจ้าหน้าที่จึงเก็บไปเพื่อส่งพิสูจน์ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อหาข้อมูลที่แท้จริงว่าเป็นมูลของสัตว์ชนิดใดกันแน่
นายประพันธ์ จิตต์เทศ พนักงานพิทักษ์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า อุจจาระที่พบอยู่บริเวณกลางสนามหญ้าหน้าวนอุทยานนั้นไม่ใช่มูลของสุนัข เนื่องจากการพิสูจน์เบื้องต้นพบว่ามีขนของสัตว์จำนวนมากอยู่ในกองอุจจาระและพบเศษชิ้นส่วนกระดูรวมอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นมูลของเสือดำ ที่กัดกินเนื้อสัตว์ป่าจำพวกลิง ชะนี หรือเป็นขนและกระดูกของเนื้อทรายที่ถูกกัดตายและกินซากไปก็เป็นได้ ซึ่งจะต้องนำมูลที่พบส่งไปตรวจหาผลสรุปที่ชัดเจน
อีกทั้งยังคาดว่าน่าจะเป็นเสือดำ ที่เข้ามากัดกินเนื้อทราย เนื่องจากว่าเคยมีชาวบ้านพบเห็นเสือดำเดินหากินอยู่ในบริเวณช่องเขา แต่ไม่พบว่ามีชาวบ้านถูกเสือดำทำร้ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะเป็นเพราะความบังเอิญที่เสือดำอาจเดินลงมาหากินแล้วมาพบเข้ากับฝูงของเนื้อทรายที่เลี้ยงไว้ในกรง จึงปีนกรงเข้าไปกัดและกินเป็นอาหารดังกล่าว
"อย่างไรก็ตาม ทางวนอุทยานฯได้นำกล้อง CAMARA TRAP มาติดตั้งไว้จำนวน 2 ตัวเพื่อดักจับบันทึกภาพในระหว่างที่รอผลการตรวจพิสูจน์อีกทั้งจะมีการเปิดกล้องเพื่อดูภาพถ่ายที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเห็นว่าสัตว์ที่เข้ามากัดเนื้อทรายนั้นเป็นสัตว์ชนิดใดกันแน่ หากกล้องสามารถบันทึกภาพไว้ได้"
จากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พบว่า ยังมีเนื้อทรายที่รอดชีวิตอีก 4 ตัวด้วยกัน โดยมีเนื้อทรายแรกเกิดอายุประมาณ 2 สัปดาห์จำนวน 2 ตัวรวมอยู่ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี
นายสากล กาญจนรจิต นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ขณะนี้เนื้อทรายที่รอดชีวิตที่ถูกส่งมาวันแรกมีทั้งหมด 5 ตัวโดยมี 1 ตัวที่ได้รับบาดเจ็บแต่ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในวันต่อมา ส่วนเนื้อทรายที่เหลือตอนนี้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะลูกของเนื้อทราย 2 ตัวเจ้าหน้าที่ต้องคอยป้อนนมเนื่องจากแม่ของมันถูกเสือดำกัดตายทั้ง 2 ตัว นอกจากนี้ เชิญชวนผู้สนใจตั้งชื่อลูกเนื้อทรายที่รอดชีวิตเพราะเชื่อว่าจะเป็นขวัญใจของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างแน่นอน
สำหรับ "เนื้อทราย" หรือ "ทราย" หรือ "ตามะแน" เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Axis porcinus มีรูปร่างอ้วนป้อม ขาสั้น จึงได้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า กวางหมู (Hog deer) เนื้อทรายจะมีสีขนเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศ โดยปกติจะมีสีน้ำตาลเข้มในฤดูหนาว สีเทาในฤดูร้อน ลูกเนื้อทรายเมื่อแรกเดิดจะมีจุดสีขาวตามลำตัว เมื่อโตขึ้นจึงจายหายไป บริเวณช่วงท้องมีสีอ่อนกว่าลำตัว ขนสั้นมีปลายขนสีขาว มีแถบสีเข้มพาดตามหน้าผาก มีเขาเฉพาะเพศผู้ ลักษณะเขาคล้ายกวางป่า มีความยาวลำตัวและหัว 140-150 เซนติเมตร ความยาวหาง 17.5-21 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 65-72 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70-110 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคเหนือของอินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา, ภูฏาน, บังกลาเทศ, พม่า, ภาคใต้ของจีน, ไทย, ลาว, พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม, เกาะคาลาเมี่ยนในฟิลิปปินส์ และเกาะบาเวียนในอินโดนีเซีย
มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบต่ำที่น้ำท่วมถึง ออกหากินในเวลากลางคืน มีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นและฟังเสียงดีเยี่ยม แม่เนื้อทรายสามารถจดจำลูกตัวเองได้โดยการดมกลิ่น เมื่อพบศัตรูจะวิ่งหนีไม่กระโดดเหมือนเก้งและกวาง โดยปกติจะอาศัยอยู่ตามลำพัง แต่ในฤดูผสมพันธุ์ ราวเดือนกันยายน-ตุลาคม อาจหากินเป็นฝูงเล็ก ๆ ได้ ราว 12 ตัว ตั้งท้องประมาณ 8 เดือน วัยเจริญพันธุ์อยู่ที่ 2 ปี ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ในสถานที่เลี้ยงมีอายุราว 10-15 ปี
เนื้อทราย เคยเป็นสัตว์ป่าสงวนในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2509 และถูกถอดชื่อออกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เนื่องจากสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในปริมาณที่มากจำนวนหนึ่ง แต่สถานะในธรรมชาติในประเทศไทย เชื่อว่าในปัจจุบันเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะที่ภูเขียว เป็นสถานที่ๆ มีเนื้อทรายอยู่มากที่สุด จากการเพาะขยายพันธุ์และสืบพันธุ์เองตามธรรมชาติจากพ่อแม่พันธุ์ที่เกิดจากการเพาะโดยมนุษย์ที่ถูกปล่อย
เนื้อทราย ตามคติของคนไทย ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีนัยน์ตาสวย จึงมีคำเปรียบเปรยว่า ตาสวยดังเนื้อทราย
เนื้อทราย ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น กวางแขม ลำโอง และกวางทราย