ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ผลวิจัย มมส.ย้ำ 6 ปีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพชุมชน ยังล้มลุกคลุกคลาน เหตุผู้บริหาร อบต.และเทศบาลไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ ชี้จากนี้ไปผู้บริหาร อบต. เทศบาล จะพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดการบริหารกองทุนแบบประชาชนมีส่วนร่วมยิ่งขึ้น มมส.จับมือ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น พัฒนาหลักสูตรผู้บริหารกองทุน 2 รุ่น เริ่มอบรมมีนานี้
ผศ.ดร.วรพจน์ พรหมสัตยพรต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) กล่าวว่า จากการวิจัยการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ หรือกองทุนสุขภาพชุมชน พบว่าท้องถิ่นยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยเฉพาะในส่วนของการใช้งบประมาณจากการลงขันของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และท้องถิ่นที่สมทบในสัดส่วนที่กำหนด ดังนั้น เมื่อท้องถิ่นได้รับงบประมาณจะต้องดำเนินงานตามที่ สปสช.ได้ตั้งเกณฑ์เอาไว้
แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า ท้องถิ่นไม่มีแผนทั้งในส่วนของข้อมูลสุขภาพ และแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ในการทำงาน ทำให้บางท้องถิ่นไม่สามารถทำตามเกณฑ์ที่กำหนดได้
ผศ.ดร.วรพจน์ กล่าวว่า แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ เป็นการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดความหลากหลายของโครงการที่จะดำเนินงาน แต่บางท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ได้ จึงใช้งบประมาณไม่ตรงจุด ในส่วนตัวเห็นว่าเงินส่วนใหญ่ควรจะให้คนในชุมชนเป็นผู้ใช้งบประมาณมากกว่าหน่วยบริการที่อาจจะซ้ำซ้อนกับภาระงานปกติ อย่างไรก็ตามจากการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันพบว่าแนวโน้มที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมและมีความหลากหลายของโครงการมีมากขึ้น
ทั้งนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น จัดทำหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหาร อบต./เทศบาล เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำกองทุน ให้เข้าใจบทบาท หน้าที่ และรับรู้ เข้าใจระเบียบการดำเนินงานกองทุน รวมทั้งทำให้เกิดกองทุนต้นแบบเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด โดยจัดอบรม 2 รุ่น รุ่นละ 40 คน ในเดือนมีนาคมนี้
ด้านนายวิชัย กว้างสวาสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดสิม อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เทศบาลตำบลกุดสิม ได้เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคในการการบริหารจัดการงบประมาณบ้าง เนื่องจาก นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ นายกเทศมนตรี มีประสบการณ์การทำงาน และแนวคิดที่แตกต่างกัน แต่การเข้าร่วมจัดตั้งกองทุน เป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการเติมช่องว่างการสร้างเสริมสุขภาพที่ภาครัฐ และท้องถิ่น ยังเข้าไปไม่ถึง ด้วยการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างแผนการบริหารจัดการกองทุน
“ปัญหาและอุปสรรคการทำงานจากที่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ความรู้ ความเข้าใจในการทำงานก็มีมากขึ้น ถึงเวลาที่ อบต.และเทศบาล ที่ได้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ต้องทำโครงการที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนก่อน อย่ามาแบ่งเค้กกันเอาเงินไปทำเรื่องที่ไม่จำเป็น หรือซ้ำซ้อนกับงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว” นายวิชัยกล่าวว่า