xs
xsm
sm
md
lg

ภาคอีสานยังป่วยฉี่หนูสูงสุด เร่งรณรงค์ป้องกันลดอัตราเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิด โครงการรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคเลปโตสไปโรสิส จังหวัดอุดรธานี ปี 2555 โดยมีบุคคลากรสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และ อสม. จำนวน 200 คน เข้าร่วมงาน
อุดรธานี - อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยภาคอีสานยังครองแชมป์ป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนูสูงสุด อาชีพเกษตรกรรมติดเชื้อเป็นอันดับหนึ่ง เฉพาะเขตพื้นที่รับผิดชอบสนง.ป้องกันควบคุมโรค จ.ขอนแก่น ตลอดปี 54 พบผู้ป่วยมากกว่าพันราย เสียชีวิต 10 ราย เร่งรณรงค์ป้องกันลดอัตราเสี่ยง

ที่ห้องประชุมตึกอำนวยการ ชั้น 7 โรงพยาบาลอุดรธานี นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เป็นประธานเปิด โครงการรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคเลปโตสไปโรสิส จังหวัดอุดรธานี ปี 2555 โดยมีบุคคลากรสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และ อสม. จำนวน 200 คน เข้าร่วมงาน

นายแพทย์สัญชัย ปิยะพงศ์กุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และปัจจุบันมีแรงงานภาคเกษตรกรรมจำนวนมากกว่า 15ล้านคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ของแรงงานทั้งหมด จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคเล็ปโตสไปโรสีสทั่วประเทศ จำนวน 3,893 ราย มีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 67 ราย

โดยอาชีพที่ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคนี้สูงสุด คือ อาชีพเกษตรกรรม ซึ่งภูมิภาคที่มีรายงานผู้ป่วยสูงที่สูดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ ในพื้นที่ตรวจราชการเขต 10 และ12 ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6จังหวัดขอนแก่น ในช่วงปี 2554 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,100 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 10 ราย

นายแพทย์สัญชัยระบุว่า จากรายงานระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2554 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 62 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 4.07 ต่อประชากรแสนคน โดยพบผู้ป่วยสูงสุดที่อำเภอสร้างคอมจำนวน 13 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 45.70 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพหาปลา พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดพบในพื้นที่เขตชนบท

จากการสอบสวนโรคพบว่า การติดเชื้อน่าจะเป็นผลโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อจากแหล่งรังโรคที่เกี่ยวข้องเช่น ทำนา การออกหาปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ห้วย หนอง คลอง บึง ที่สำคัญผู้ป่วยเกือบทั้งหมดยังขาดความรู้ความใส่ใจในการป้องกันตนเองรวมทั้งพฤติกรรมความเคยชินกับการปฏิบัติตัวตามวิถีชีวิตเดิม จึงไม่สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้

จากสถานการณ์ข้างต้น กรมควบควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้เห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพของประชาชนที่เกิดจากโรคเล็ปโตสไปโรซีส จึงจัดทำโครงการมหกรรมรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีส จังหวัดอุดรธานี ปี 2555 ขึ้น เพื่อให้บุคคลากรสาธารณสุข ได้รับความรู้เรื่องโรคเลปโตสไปโรซีส และสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น