xs
xsm
sm
md
lg

ตราดจับมือ อพท.ช่วยชาวสวนทุเรียนเกาะช้างไม่ให้ตัดต้นทิ้งทำสวนยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตราด - จังหวัดตราด จับมือ อพท.เข้าช่วยเหลือชาวสวนทุเรียนเกาะช้างไม่ให้ตัดต้นทิ้งทำสวนยาง ขณะที่ชาวสวนทุเรียนอยากเลิกเหตุคุมราคาไม่ได้ จี้ภาครัฐต้องชัดเจนเรื่องราคา

นายบุรินทร์ ไตรมาศ เจ้าของสวนทุเรียน ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด เปิดเผยว่า ปัจจุบันชาวสวนทุเรียนบน อ.เกาะช้าง กำลังประสบปัญหาเรื่องตลาดและปัญหาราคาตกต่ำ รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจนส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียนเกาะช้าง ให้มีผลผลิตที่ไม่แน่นอน บางปีมีจำนวนมาก บางปีมีน้อย จนไม่สามารถควบคุมราคาได้ ขณะที่การขายจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อในลักษณะเหมาสวนทำให้ได้ราคาไม่สูงนัก โดยเฉพาะจะได้ 30-40 บาท/กก.เท่านั้น ทำให้เกษตรกรบน อ.เกาะช้างที่ทำสวนหันไปปลูกยางพารามากขึ้น จนทำให้สวนทุเรียนมีจำนวนลดลงอย่างมาก ปัจจุบันเหลือเพียงไม่เกิน 5-600 ไร่เท่านั้น

“ทุเรียนเกาะช้างมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของพ่อค้าและผู้บริโภคโดยเฉพาะทุเรียนชะนี ที่มีรสชาติอร่อยเนื้อนุ่ม หวานมัน หอม นอกจากพันธุ์ชะนี แล้วยังมีทุเรียนหมอนทอง ซึ่งทุเรียนเป็นสัญลักษณ์ของ อ.เกาะช้าง พ่อค้าเมื่อนำไปขายจะบอกว่าเป็นทุเรียนเกาะช้างเพราะขายได้ราคาแพง แต่เมื่อขึ้นฝั่งแล้วก็ไม่รู้ว่าทุเรียนลูกไหนเป็นทุเรียนเกาะช้าง พ่อค้าก็ต้องบอกว่าเป็นทุเรียน เกาะช้าง ซึ่งภาครัฐต้องแก้ไข เรื่องตลาดและสร้างแบรนด์ทุเรียนบนเกาะช้างให้เป็นที่รู้จักเหมือนทุเรียนนนท์ เพราะโดยพื้นฐานทุเรียนเกาะช้างเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ถ้าแก้ไขไม่ได้ ชาวสวนก็จะหันไปปลูกพืชที่ขายได้ราคาดีกว่า ถ้าล้มเหลวอีกก็จะแปลงเป็นเงิน (ขายที่ดิน) เพราะปัจจุบันราคาไร่ละหลายล้านบาท”

ด้าน พล.ต.หญิง จรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.1) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า ในฐานะที่ สพพ.1 เป็นหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้มองเห็นถึงศักยภาพของทุเรียนบนเกาะช้างที่เป็ นทุเรียนที่มีลักษณะพิเศษมีความโดดเด่นในเรื่องสายพันธุ์ ดังเดิม และดินบนเกาะช้าง มีแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟ และวิตามินที่มีคุณค่า โดยเฉพาะวิตามินดี ทำให้มีรสชาติที่กลมกล่อม และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้น สพพ.1 จะพัฒนาและส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ทุเรียนชะนีและหมอนทองเกาะช้าง

“ในรูปแบบของการพัฒนายกระดับทั้งด้านคุณภาพและในเรื่องของราคาควบคู่กับการรณรงค์การท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน ซึ่งที่ผ่านมาจากการสำรวจพบว่าในประเทศไทยมีการปลูกทุเรียนที่เป็นดินภูเขาไฟเพียงแห่งเดียวบนพื้นที่เกาะช้างของ จ.ตราดเท่านั้น โดยมีรสชาติอร่อยไม่แพ้กับทุเรียนเมืองนนท์ ที่มีราคาลูกละเป็นหมื่น ได้แนะนำให้เกษตรชาวสวนทุเรียนเกาะช้างนั้นรวมกลุ่มกันไว้ให้แน่นเวลาขายผลผลิตออกสู้ท้องตลาดจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบหรือถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางโดยต่อไป อพท.จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการตลาดอีกด้วย”

ด้านนางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า ขณะนี้ทาง พอท.โดย สพพ.1 ได้เข้ามาร่วมมือกับ ธ.ก.ส.ตราด และเกษตรกร เข้ามาพัฒนาและยกระดับทุเรียนพันธุ์ชะนี ที่มีความโดดเด่นในเรื่องรสชาติ ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากทุเรียนเมืองนนท์เท่าใดนัก แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนประสบปัญหาในเรื่องตลาด และถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ โดยมารับซื้อในลักษณะซื้อยกสวนเกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองทำให้ถูกเอาเปรียบ จะทำอย่างไรให้มีการขายทุเรียนเป็นลูกมากกว่าขายแบบเหมาเป็นต้น หรือขายแบบเหมาสวน ซึ่งชาวสวนจะถูกเอาเปรียบจะทำอย่างไรให้ชาวสวนไม่หันไปปลูกยางพารา ที่มีราคาสูงกว่า หรือหันไปขายที่ดินให้นายทุนนำไปก่อสร้างรีสอร์ทหรือโรงแรม

สำหรับปัจจุบัน อ.เกาะช้าง โดยเฉพาะ ต.เกาะช้างใต้ มีเกษตรกรปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จำนวน 458 ไร่ และทุเรียนพันธุ์ชะนี 252 ไร่ มีผลผลิตออกมาในแต่ละปี 400 ต้น ราคาขายจะอยู่ระหว่าง 30-40 บาท/กิโลกรัม และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น