xs
xsm
sm
md
lg

ส.ต้านโลกร้อนตั้งคำถามนายกฯปู ปล่อยหน่วยงานรัฐรุกแก้มลิง “บึงกะโล่” อุตรดิตถ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ตั้งคำถามนายกฯนกแก้ว สร้างภาพทัวร์นกขมิ้น ลุยตรวจงานจังหวัดอุตรดิตถ์ เตรียมพื้นที่แก้มลิง “บึงกะโล่” แก้ปัญหาอุทกภัย เจอหน่วยงานรัฐถมที่สร้างวิทยาเขต ศูนย์โอทอปร้าง จะกล้าสั่งเพิกถอนหรือไม่

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ มีแผนสร้างภาพโดยการทัวร์นกขมิ้น โดยมีกำหนดการเดินทางวันแรก 13 ก.พ.นี้ จะเดินทางถึงฝูงบินกองการบินกรมการขนส่งทหารบก ดอนเมือง เพื่อออกเดินทางไปยังท่าอากาศยานพิษณุโลก และเดินทางต่อไปยังเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ โดยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก

จากนั้น เวลา 14.30 น.นายกรัฐมนตรีจะรับฟังบรรยายสรุปโครงการพระราชดำริ และการดูแลป่าต้นน้ำ การปลูกป่า ฝายแม้ว การพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และการเตือนภัยด้านการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวลา 16.30 น.นายกรัฐมนตรี และคณะ จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน จากนั้นจะเยี่ยมชมการบริหารจัดการเขื่อนและประตูระบายน้ำ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์กลับ จ.พิษณุโลก ในเวลา 17.30 น.นั้น

การทัวร์ครั้งนี้ สมาคมฯ ฝากคำถามผ่านสื่อมวลชนถามนายกรัฐมนตรีและคณะ ว่า การสร้างภาพเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในอนาคต โดยการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่รองรับน้ำตามธรรมชาติ หรือแก้มลิงพื้นที่กว่า 7,500 ไร่ มีชื่อว่า “บึงกะโล่”

แต่ทำไมรัฐบาลจึงปล่อยให้หน่วยงานของรัฐมากกว่า 20 หน่วยงาน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้เข้าใช้พื้นที่ถมที่เพื่อสร้างวิทยาเขตแห่งที่ 3 อีกกว่า 2,000 ไร่ โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้สร้างแล้วหลายร้อยล้านบาท และกำลังถมที่บึงก่อสร้างอาคารในขณะนี้ รวมทั้งวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอีกกว่า 250 ไร่ และหน่วยงานราชการอื่นอีก

นอกจากนั้น ยังได้ปล่อยให้มีผลาญงบประมาณแผ่นดิน โดยการก่อสร้างศูนย์ OTOP ประจำจังหวัดขึ้นในบริเวณบึงดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันศูนย์ดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นที่อยู่อาศัยของนก หนู งู และ เหี้ย โดยไม่มีหน่วยงานใดกล้ารับเป็นเจ้าของ

นายกสมาคม กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 โดยชัดแจ้งที่สั่งห้ามหน่วยงานราชการใดใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ แต่หน่วยงานของรัฐในจังหวัดอุตรดิตถ์กลับปากว่าตาขยิบ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือเป็นแก้มลิง ที่สามารถใช้เป็นที่รองรับน้ำแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต้นน้ำได้อย่างมหาศาล ซึ่งเรื่องดังกล่าวชาวบ้านได้ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ทั้ง ส.ป.ก.อุตรดิตถ์ ผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ รมต.เกษตรฯ นายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีใครสนใจ จนชาวบ้านต้องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีที่ 366/2554

“ฝากสื่อช่วยถามนายกฯและคณะด้วยว่า จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร จะสั่งเพิกถอนการก่อสร้างและถมที่ดินของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์และหน่วยงานอื่นๆ อย่างไร เพื่อนำแก้มลิงดังกล่าวกลับคืนมา หรือแสร้งสร้างภาพไปวันๆ ในการทัวร์นกขมิ้น แต่ความจริงกลับปล่อยให้หน่วยงานราชการบุกรุกหรือลุกล้ำแก้มลิง โดยธรรมชาติอย่างไม่กลัวเกรงข้อสงสัยจากสังคม”
กำลังโหลดความคิดเห็น