ศูนย์ข่าวศรีราชา - สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทยร่วมกับเมืองพัทยาและกองทัพเรือเตรียมจัดการแข่งขันเรือยาวมังกรชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ประจำปี 2555 (The 2012 Asian Dragon Boat Championship) ฝีพาย 400 กว่าชีวิตจาก 12 ประเทศตบเท้าชิงชัยคึกคัก
ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช จ.ชลบุรี นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมตัวแทนจากสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ และตัวแทนศูนย์การค้าฯ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดการแข่งขันเรือยาวมังกรชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ประจำปี 2555 (The 2012 Asian Dragon Boat Championship) ที่กำหนดจัดขึ้นวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2555 นี้ ที่ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยาใต้ แหลมบาลีฮาย
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกันจัดขึ้นของสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทยร่วมกับเมืองพัทยาและกองทัพเรือ เพื่อชิงความเป็นเลิศของกีฬาเรือพายเอเชียและส่งเสริมตลอดจนพัฒนากีฬาเรือพายของไทยสู่ระดับสากล และยังเป็นการสร้างความสนใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจกีฬาเรือพายมากยิ่งขึ้น โดยเอาความโดดเด่นในเรื่องการเสริมความสามัคคีมาปลูกฝังร่วมกับกีฬาเรือพาย
อย่างไรก็ดี การแข่งขันเรือยาวมังกรชิงชนะเลิศแห่งเอเชียดังกล่าว จะมีนักกีฬาเป็นฝีพาย 400 กว่าชีวิตจาก 12 ประเทศเอเชีย ได้แก่ มาเก๊า, ไต้หวัน, ฮ่องกง, อินเดีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, ลาว, จีน และประเทศไทยเข้าร่วมชิงชัยกันอย่างคึกคัก และยังถือเป็นมิติใหม่แห่งการกีฬาทางน้ำ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการแข่งขันเรือพายในทะเลขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มจุดขายด้านความหลากหลายของการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางทะเลของเมืองพัทยาขึ้นได้ในระดับหนึ่ง โดยจะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภท 22 ฝีพาย, 12 ฝีพาย และ 5 ฝีพาย
อนึ่ง เรือยาวมังกร เป็นเรือรูปทรงยาวเพรียว มีต้นกำหนดดั้งเดิมมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ฝีพายใช้พายเดี่ยวเป็นลักษณะเดียวกันทั่วโลก ถือเป็นกีฬาที่มีความหมายด้านจิตวิญญาณของชาวจีนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันกว่า 5,000 ปี แต่เดิมมีการจัดแข่งขันในเทศกาลตวนอู่ ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพและระลึกถึง “ชีว์หยวน” ขุนนางที่ไม่สามารถปกป้องรัฐฉู่ของตนจากการรุกรานของรัฐฉินในช่วง 475-221 ปี ก่อนคริสตศักราช จึงกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่ชาวบ้านช่วยกันพายเรือนำอาหารให้ปลาและตีกลองไม่ให้สัตว์น้ำเข้ามากัดแทะร่างของชีว์หยวน
ในปัจจุบันรูปแบบของเรือยาวมังกรตามมาตรฐานของสหพันธ์เรือมังกรปี 2519 ได้มีการจัดแข่งขันในระดับสากลเป็นครั้งแรกที่ฮ่องกง ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น การแข่งขันเรือยาวมังกรได้รับความนิยมในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและเอเชียเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจึงมีประเทศที่มีการจัดการแข่งขันราว 60 ประเทศทั่วโลก และในปี 2553 ได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับการแข่งขันเรือยาวมังกรในประเทศไทยนั้น ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไทยทุกภาคของประเทศมีความผูกพันกับสายน้ำ และมีการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีสืบทอดเป็นวัฒนธรรมต่อเนื่องมายาวนานกว่า 700 ปี จนมีการพัฒนาไปสู่รูปแบบของการประดับประดาหัวเรือตกแต่งให้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ การแข่งขันเรือมังกรจึงเปรียบได้กับเรือคชสีห์ของไทยที่มีหัวโขนรูปสัตว์ในวรรณคดีมาประดับไว้ที่หัวเรือ อันสื่อความหมายทางวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมาแต่โบราณ ปัจจุบันสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทยมีการพัฒนากีฬาเรือยาวมังกรอย่างชัดเจน เพราะอดีตมีเพียง 8 ทีม แต่ปี 54 ที่ผ่านมามีทีมเรือยาวมังกรในประเทศไทยแล้วรวมทั้งสิ้น 30 ทีม ซึ่งถือเป็นการพัฒนากีฬาเรือพายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน