xs
xsm
sm
md
lg

หลากหลายประเพณีพื้นบ้านในเทศกาลไหว้บะจ่าง หัวใจล้วนเปี่ยมรักและอบอุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออน์ไลน์--จีนเรียกวันไหว้บะจ่างนี้ว่า เทศกาลตวนอู่ (端午节) หรือเทศกาลแข่งเรือมังกร(赛龙舟)ตรงกับวันขึ้นห้าค่ำ เดือนห้าในปฏิทินจันทรคติจีน สำหรับปี 2555 นี้ ตรงกับวันที่ 23 มิ.ย. ที่ประเทศจีนถือเทศกาลตวนอู่เป็น 1 ใน 4 เทศกาลใหญ่ อีกสามคือ วันตรุษจีน วันไหว้พระจันทร์ และวันฉงหยัง

เกี่ยวกับที่มาของเทศกาลตวนอู่ สำหรับประเทศจีน บ้างก็ว่าเป็นวันรำลึกถึงชีว์หยวน (屈原)บ้างว่าเป็นวันรำลึกถึงอู๋ จื่อซีว์ บ้างก็ว่าเป็นวันรำลึกถึงเฉาเอ่อร์ หญิงยอดกตัญญู (ค.ศ. 130-143) แห่งยุคตงฮั่นหรือฮั่นตะวันออก แต่ที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางที่สุด คือเป็นประเพณีรำลึกและคารวะแด่ชีว์ หยวน กวีผู้รักชาติแห่งแคว้นฉู่ปลายยุคจั้นกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ชีว์หยวนโดนพวกกังฉินริษยาใส่ร้ายป้ายสี จนเจ้าครองแคว้นฉู่เนรเทศชีว์หยวนไปแดนไกล

เมื่อกองทัพแคว้นฉินเข้ายึดครองแคว้นฉู่ ชีว์หยวนละอายใจที่ไม่อาจช่วยบ้านเมืองได้เจ็บปวดสุดทานทน กระโจนลงแม่น้ำมี่หลัวเจียงในวันขึ้นห้าค่ำ เดือนห้า เมื่อ 278 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวบ้านในละแวกนั้นนับถือจิตใจของชีว์หยวน ต่างพาพายเรือออกค้นหาศพของเขา เมื่อไม่พบ ก็เกรงว่ากุ้ง หอย ปู ปลาในน้ำ จะพากันกัดแทะกินร่างของเขา จึงพากันนำเอาข้าวเหนียวบรรจุในกระบอกไผ่แล้วโยนลงไปในแม่น้ำให้เหล่าสัตว์น้ำมากินแทน จากเรื่องราวการพายเรือค้นศพชีว์หยวนและการโยนข้าวเหนียวฯนี้เอง ได้กลายเป็นประเพณีเซ่นไหว้บะจ่าง และการแข่งเรือมังกร สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ชีว์หยวนเป็นวีรบุรุษท่านหนึ่ง ที่ชาวจีนชื่นชมในคุณงามความดี และเทิดทูนให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน ประเพณีเหล่านี้นอกจากเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่รักในความถูกต้องชอบธรรมแล้ว ยังเป็นการสะท้อนบอกเป็นนัยให้ลูกหลานได้รู้ว่า “หากไม่รักชาติบ้านเมือง ไร้ความจงรักภักดี วันหนึ่งอาจไม่มีแผ่นดินให้อยู่....”

ในจีนมีกิจกรรมตามประเพณีพื้นบ้านหลากหลายมากมายในเทศกาลตวนอู่ ที่แพร่หลายที่สุด คือ ไหว้ขนมข้าวเหนียวบะจ่าง แข่งขันเรือมังกร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าตำนานที่มาของเทศกาลตวนอู่มีกี่แบบก็ตาม ผู้คนในภาคใต้ภาคเหนือต่างมีตำนานเรื่องราวแตกต่างกัน แต่หัวใจของวัฒนธรรมเทศกาลตวนอู่ ล้วนเชื่อมโยงกับชีวิตผู้คน ความรักความอบอุ่นในชีวิต กิจกรรมพื้นบ้านในแต่ละแห่งล้วนแสดงความหวังในชีวิตอันงดงามในวันข้างหน้า

สำนักงานซินหวา ได้รวบรวมภาพเกี่ยวกับประเพณีพื้นบ้านอันหลากหลายในเทศกาลวันไหว้บะจ่างตามเขตต่างๆในประเทศจีนระหว่างช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่ล้วนแสดงถึง“ความรักความอบอุ่น” อันเป็นหัวใจเทศกาลตวนอู่

“บะจ่างยักษ์” สูง 7 เมตร ที่สวนสนุกในซูโจว (ภาพ 27 พ.ค. 2552

การแข่งขันพายเรือมังกรแห้ง เป็นประเพณีพื้นบ้านที่โดดเด่นและหายไปนานหลายปี ในเทศกาลไหว้บะจ่างปี 2553 ประชาชนในตำบลจี้ซื่อ นครฉงชิ่ง ได้รื้อฟื้นการแข่งขันพายเรือมังกรแห้ง ซึ่งเป็นการแข่งขันเรือมังกรกันบนบกนั่นเอง ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ต่างร้องตระโกน “ออกแรง” เดินหน้า (ภาพ 13 มิ.ย. 2553)

เทศกาลวัฒนธรรมตวนอู่ที่จื่อกุย มณฑลหูเป่ย ลูกหลานจัดกิจกรรมเซ่นไหว้อากงชีว์หยวน พร้อมเปิดการแข่งขันเรือมังกร ในภาพ: ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเรือมังกรของวัฒนธรรมพื้นบ้านจื่อกุย (ภาพ 27 พ.ค. 2552)

เทศกาลวัฒนธรรมร่วมฝูเจี้ยน-ไต้หวัน และเทศกาลสาดน้ำครั้งที่ 5 ในปี 2554 จัดขึ้นที่สือซือ มณฑลฝูเจี้ยน (หรือ ฮกเกี้ยน) หนุ่มๆสาวๆจากสองฝากฝั่งเล่นสาดน้ำกันสนุกสนานระหว่างเทศกาลตวนอู่ (ภาพ 2 มิ.ย.2554)

ชาวบ้านในตำบลกุยโจว อำเภอจื่อกุย มณฑลหูเป่ย กำลังใช้ใบ“ไอ้” (艾叶) ล้างเท้าผู้ชราตามประเพณีพื้นบ้าน อวยพรให้ผู้เฒ่าผู้แก่สุขภาพแข็งแรงอายุยืน สำหรับใบไอ้นี้เป็นสมุนไพรจีน ช่วยกำจัดแมงต่างๆรักษาสุขภาพ

หนุ่มเมืองหนิงปัวจะหาบ “หาบตวนอู่” ไปเยี่ยมคารวะว่าที่พ่อตาแม่ยาย ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านในหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียงยุคเก่าก่อน ในตระกร้า “หาบตวนอู่” มีห่านขาวหนึ่งตัว ที่หัวของห่านขาวทาสีขาว ส่วนตระกร้าหาบอีกใบ มีบะจ่าง สุราพื้นบ้าน ปลา และผลิตผลในท้องถิ่นอื่นๆ

นักท่องเที่ยวกำลังลอยโคม ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านในเทศกาลตวนอู่ ในตำบลจิ่วตู้เหอ นครปักกิ่ง ขอพรห้าประการ “อายุยาว ลาภยศ สุขภาพดี คุณธรรม ตายดี” (ภาพ 27 พ.ค.2552)

เด็กๆสวมเอี๊ยมสีแดงที่สวนซีหู ฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน (ภาพ 28 พ.ค.2552)

ที่เมืองชิ่งหยัง มณฑลกันซู่ ได้รับการขนานนาม “เมืองถุงเครื่องหอม” และมีวัฒนธรรมพื้นบ้านทำถุงเครื่องหอมรูปแบบต่างๆปักลวดลายสวยงามแจกเด็กๆในช่วงก่อนเทศกาลตวนอู่ โดยถุงหอมนี้เป็นเครื่องรางขจัดสิ่งเลวร้ายและนำโชค ในภาพ อาหมวยกำลังโชว์ถุงหอมกระต่าย (ภาพ 5 มิ.ย. 2554)

ชาวเมืองในอี้ว์หยวน นครเซี่ยงไฮ้ กำลังเอามือรมสมุนไพรจีน โกฐสอ หรือ ไป๋จื่อ(白芷)ที่หน้าร้านขายยา ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านแบบหนึ่งในเทศกาลตวนอู่ (ภาพ 26 พ.ค.2552)

เด็กๆในโรงเรียนประถมศึกษาที่เมืองผูเถียน มณฑลฝูเจี้ยน กำลังนำไข่วาดรูปเสือมาชนกัน ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านในเทศกาลตวนอู่ นักเรียนจะนำไข่เป็ดที่ต้มในสมุนไพร 5 ชนิด มาเขียนความหวังของตน จากนั้นก็นำไข่มาชนกัน กล่าวคำอวยพร ต่อไปนี้ขอให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ฉลาด (ภาพ 13 มิ.ย.2553)

อาม่าในเมืองอวิ้นเฉิง มณฑลซันซีกำลังโชว์หมั่นโถวที่ปั้นด้วยมือตัวเอง เมืองอวิ้นเฉิงนี้มีประเพณีทำหมั่นโถวรูปเสือในเทศกาลตวนอู่ อำนวยพรโชค ความสงบสุข อายุยืน ( ภาพ 4 มิ.ย. 2554)

ชาวเมืองหยังโจว ในมณฑลเจียงซูกำลังเสียบก้านใบโกฐจุฬาลำพา (艾蒿)ที่หน้าประตูบ้าน (ภาพ 5 มิ.ย.2554)

โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเมืองซูโจว กำลังจัดกิจกรรมประเพณีพื้นบ้าน คุณครูกำลังสอนให้เด็กๆ รู้จักอาหารห้าอย่างในเทศกาลตวนอู่ที่นอกเหนือจากบะจ่าง คือ แตงกวา ปลาไหล ปลาเหลือง ไข่เป็ดเหลือง เหล้าเหลือง ชาวจีนเรียกประเพณีกิน “ห้าเหลือง” (五黄) เนื่องจากในชื่ออาหารเหล่านี้ มีคำที่มีความหมายว่า สีเหลือง (黄瓜、黄鳝、黄鱼、咸鸭蛋黄、雄黄酒) (ภาพ 12 มิ.ย.2555)

พิพิธภัณฑ์ชีว์หยวนที่ตงหู เมืองอู่ฮั่น จัดกิจกรรม “เทศกาลตวนอู่ของเด็ก เรียนรู้ประเพณีพื้นบ้าน” เด็กๆได้โชว์กำไลเส้นถักห้าสีที่พวกเอทำด้วยมือตัวเอง เชือกถักห้าสีเป็นสิ่งของอย่างหนึ่งของเทศกาลตวนอู่ ผู้ใหญ่จะนำเชือกห้าสีนี้มาทำเป็นกำไรสวมข้อมือเด็ก เป็นเครื่องรางกำจัดสิ่งชั่วร้าย ป้องกัน “พิษห้าอย่าง” เข้าใกล้ (พิษร้ายของสัตว์ 5 ชนิด เช่น ตะขาบ แมงป่อง งู) (ภาพ 4 มิ.ย.2554)
กำลังโหลดความคิดเห็น