ไชน่า เดลี - แม้ว่า จีนจะเป็นแหล่งกำเนิดของการแข่งเรือมังกรมาเป็นเวลามากกว่า 2,000 ปี แต่ปัจจุบัน การแข่งเรือดังกล่าว ได้กลายเป็นกีฬายอดนิยมไปทั่วโลก ขณะที่ ชาวจีนรุ่นใหม่กลับให้ความสนใจการแข่งเรือมังกรน้อยลง
การเฉลิมฉลองเทศกาลแข่งเรือมังกร ที่จัดขึ้นในเมืองต่างๆทั่วประเทศจีน นับ 100 แห่ง เมื่อวันจันทร์(6 มิ.ย.) บรรยากาศการแข่งขันฯแต่ละแห่งล้วนสนุกสนานตื่นเต้น ผู้คนต่างส่งเสียงเชียร์ลุ้นการแข่งพายเรือมังกรกันอย่างสนุกสนาน ฝีพายที่ร่วมการแข่งขันในแต่ละแห่ง รวมทั้งสิ้นราว 300,000 คน โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของ อู๋ กัวฉง นักแข่งเรือมังกรชื่อดังของจีน รวมอยู่ด้วย
อู๋ กัวฉง ชาวนาวัย 46 ปี จากเขตจิ่วเจียง เมืองฝัวซาน มณฑลก่วงตง(กวางตุ้ง) ได้กลายเป็นฝีพายแข่งเรือมังกรชื่อดังของจีน ที่ได้รับเหรียญรางวัลการแข่งเรือมังกรมาแล้วนับไม่ถ้วน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทีมเรือมังกรจิ่วเจียงของเขาฝึกฝนกันอย่างหนักจนสามารถชนะการแข่งขันได้หลายรายการ และได้เป็นตัวแทนทีมเรือพายประเภทเรือมังกรของจีน ในการแข่งขันก่วงโจวเกมส์ เมื่อปีที่ผ่านมา(2553) และสามารถคว้าอันดับ 3 ในการแข่งฯประเภท 250 เมตร และ500 เมตร ได้ 2 เหรียญทองแดงมาครอง
การแข่งเรือมังกรได้กลายเป็นกีฬายอดนิยมในหลายแห่ง โดยข้อมูลจากสมาคมเรือมังกรจีน(Chinese Dragon Boat Association) ระบุว่า การแข่งเรือมังกรกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนชาวจีนทั่วเอเชีย ยุโรป สหรัฐฯ และบริเวณโซนโอเชียเนีย โดยปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันเรือมังกรทั่วโลก รวมทั้งสิ้นมากกว่า 50 ล้านคน ในมากกว่า 50 ประเทศและภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมจีนในปัจจุบัน ทำให้ชาวจีนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจที่จะเข้าร่วมการแข่งเรือมังกร โดยหันไปหางานทำในเมืองหลักกันมากขึ้น จู เหวินเฉวียน โค้ชของอู๋ กล่าวว่า “ไม่กี่ปีมานี้ ชาวจีนท้องถิ่น ไม่ค่อยจะสนใจการแข่งเรือมังกร แม้ว่าทีมแข่งเรือมังกรจิ่วเจียงจะสร้างชื่อเสียงมากมาย และได้รับเงินรางวัลมหาศาลก็ตาม”
อี๋ว์ ฮั่นเฉียว เลขาธิการสมาคมเรือมังกรจีน เผยว่า “แม้จีนจะเป็นแหล่งกำเนิดของการแข่งเรือมังกร แต่ปัจจุบันหลายชาติในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา กำลังพัฒนาการแข่งกีฬาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี” พร้อมกล่าวว่า “มันเป็นเรื่องที่ดีที่นำการพายเรือมังกรมาเป็นกีฬาการแข่งขัน แต่เราก็ควรให้ความสนใจกับนัยทางวัฒนธรรม และปฏิบัติตามประเพณีเดิม”
ย้อนรอยประวัติศาสตร์เทศกาลตวนอู่
อนึ่ง เทศกาลการแข่งเรือมังกร เป็นประเพณีการรำลึกและคารวะชีว์หยวน ขุนนางและนักกวีแห่งแคว้นฉู่ปลายยุคจั้นกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ตามตำนานเล่าว่า สมัยนั้น มีกลุ่มขุนนางกังฉินคอยเป่าหูใส่ความเจ้าครองแคว้นฉู่ ให้เกลียดชังและเนรเทศชีว์ หยวน ไปแดนไกล ต่อมากองทัพแคว้นฉินก็ได้เข้ายึดครองแคว้นฉู่ ขณะที่ในตอนนั้นชีว์หยวน รู้สึกเจ็บช้ำใจมาก จึงผูกก้อนหินกับตัวและกระโจนลงแม่น้ำมี่หลัวเจียงในวันที่ 5 เดือน 5 เมื่อ 278 ปีก่อนคริสต์ศักราช
เมื่อชาวบ้านในละแวกนั้นได้ยินข่าวการตายของขุนนางตงฉินผู้นี้ ทุกคนต่างนับถือจิตใจของชีว์หยวนเป็นอย่างมาก ต่างพากันพายเรือออกค้นหาศพของเขา เมื่อไม่พบ ก็เกรงว่ากุ้ง หอย ปู ปลาในน้ำ จะพากันกัดแทะกินร่างของเขา จึงพากันนำเอาข้าวเหนียวบรรจุในกระบอกไผ่แล้วโยนลงไปในแม่น้ำให้เหล่าสัตว์น้ำมากินแทน
จากเรื่องราวการพายเรือค้นหาศพชีว์หยวนและการโยนข้าวเหนียวฯนี้เอง ได้กลายมาเป็นประเพณีเซ่นไหว้ กินบ๊ะจ่าง และแข่งเรือมังกร มาจนถึงปัจจุบัน
เกร็ดวัฒนธรรม ในเทศกาลแข่งเรือมังกร
บะจ่าง
บะจ่าง หรือขนมจั้ง หรือจ้งจื่อ (粽子) ได้กลายมาเป็นอาหารหลักสำหรับประเพณีแข่งเรือมังกร บะจ่างทำด้วยข้าวเหนียว ใส่หมูหรือหมูแดง กับถั่วหรือเม็ดบัว และเครื่องปรุงต่างๆ ผัดแล้วห่อด้วยใบไผ่มัดเป็นทรงพีระมิดสามเหลี่ยม บางที่ก็เป็นรูปสี่เหลี่ยม ใช้เชือกมัดแล้วนึ่งให้สุก ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะทำไส้แตกต่างกันไป
เหล้าสยงหวง
ฤดูดื่มเหล้าหรดาลแดง หรือเหล้าสยงหวง อันมีส่วนประสมของแร่ธาตุสีส้มเป็นกำมะถัน โดยเชื่อว่าจะสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี
ถุงเครื่องหอมและกำยาน
ในช่วงเทศกาลขึ้น 5 ค่ำเดือน 5 นี้ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะพกถุงผ้าไหมใส่กำยาน ติดตัวไว้ โดยเชื่อว่าจะเป็นถุงนำโชคลาภและความร่มเย็นเป็นสุข ความมั่งคั่ง และขจัดสัตว์มีพิษกระทั่งปีศาจชั่วร้ายได้
แขวนภาพจง ขุย
จง ขุยเป็นเทพในตำนานโบราณของจีน ผู้ปราบภูตผีปีศาจ ใจช่วงงานเทศกาลแข่งเรือมังกร ภาพของเทพเจ้าหน้าโหดจง ขุยถือดาบจะถูกนำมาแขวนไว้หน้าประตูบ้านของคนจีน ตามความเชื่อที่ว่า จะสามารถป้องกันมิให้ปีศาจร้ายเข้ามากล้ำกรายได้
ประมวลภาพบรรยากาศเทศกาลตวนอู่ หรือ เทศกาลแข่งเรือมังกร