บุรีรัมย์ - ผู้เลี้ยงช้าง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ผวาขบวนการค้างา-เปิบพิสดาร ต้องนำช้างเข้ามาเลี้ยงในหมู่บ้านจากเดิมผูกไว้ตามป่าหวั่นถูกฆ่าลักขโมย พร้อมประณามผู้ทารุณกรรมและนำอวัยวะเพศช้างไปทำเมนูเปิบพิสดาร ทั้งเรียกร้องภาครัฐเพิ่มบทลงโทษให้เด็ดขาด ขณะนายอำเภอสตึก จี้ เจ้าของนำช้างมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องป้องกันการสวมสิทธิ์
วันนี้ (26 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้เลี้ยงช้างที่บ้านโพนเงิน ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เลี้ยงช้างมากที่สุดในจังหวัดบุรีรัมย์ ต้องนำช้างเข้ามาเลี้ยงไว้ตามบ้านของตัวเอง จากเดิมที่เคยนำไปผูกเลี้ยงไว้ตามป่าสาธารณะที่มีแหล่งอาหาร ซึ่งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกกลุ่มกระบวนการค้างาช้างและผู้ไม่หวังดี เข้ามาลักขโมยหรือก่อเหตุทารุณกรรมตัดเอางา หรืออวัยวะเพศของช้างไปทำเมนูเปิบพิสดาร อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวในหลายพื้นที่อยู่ในขณะนี้
ทำให้ช่วงนี้เจ้าของหรือควาญช้างต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารมาเลี้ยงช้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 500-600 บาท จากเมื่อก่อนที่เคยนำช้างไปผูกเลี้ยงไว้ตามป่า ทำให้ไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหารเลี้ยงช้าง ยกเว้นช่วงหน้าแล้งที่แหล่งอาหารช้างขาดแคลน
พร้อมกันนี้ กลุ่มผู้เลี้ยงช้างยังได้ประณามผู้ที่มีพฤติกรรมทารุณกรรม ตัดเอาอวัยวะเพศ หรือชิ้นส่วนของช้าง ไปทำงานเครื่องรางของขลัง ยาโด๊ป หรือเครื่องประดับขายเพื่อธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ยังสร้างความสะเทือนใจให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง เพราะช้างถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาช้านาน
นายเหมา ทรัพย์มาก ผู้ใหญ่บ้านบ้านโพนเงิน หมู่ 10 ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในหมู่บ้านโพนเงิน มีช้างอยู่ทั้งหมดกว่า 50 เชือก แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ในพื้นที่ไม่ถึง 10 เชือก ส่วนที่เหลือเจ้าของได้พาไปตระเวนขายกล้วย อ้อย และรับจ้าง หรือแสดงโชว์ตามจังหวัดต่างๆ จากกรณีที่เกิดขึ้นกับช้างในหลายพื้นที่ จึงอยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐได้เข้มงวด และเอาผิดอย่างจริงจังกับกลุ่มกระบวนการดังกล่าว และควรเพิ่มบทลงโทษเพื่อเอาผิดกับทั้งเจ้าหน้าที่ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นซ้ำอีก
ด้าน นายดำรงชัย เนรมิตตกพงษ์ นายอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากเกิดกรณีช้างถูกทารุณกรรม ถูกฆ่า และมีการตัดอวัยวะเพศของช้างไปทำเมนูอาหาร หรือยาชูกำลัง รวมไปถึงกระบวนการค้างาช้างในหลายพื้นที่นั้น ทางอำเภอได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสำนักงานปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มมาตรการในการดูแลป้องกันกลุ่มกระบวนการดังกล่าวอย่างเข้มงวดแล้ว เนื่องจากอำเภอสตึกเป็นอำเภอที่มีประชากรช้างมากที่สุดของจังหวัด
พร้อมกันนี้ ยังได้ย้ำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้เลี้ยงช้าง มาแจ้งขึ้นทะเบียนตั๋วรูปพรรณช้างกับทางอำเภอให้ถูกต้อง ทั้งในกรณีช้างตาย การเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่จังหวัด รวมถึงการซื้อขายเปลี่ยนมือ เพื่อป้องกันการนำช้างไปทารุณกรรม นำเอาซาก กระดูก และงา ไปทำเครื่องรางของขลัง และเครื่องประดับขายในเชิงธุรกิจ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมือง ทั้งเพื่อเป็นการลักลอบนำช้างป่า หรือช้างนอกพื้นที่เข้ามาสวมทะเบียนช้างในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
นายอำเภอสตึก กล่าวอีกว่า ล่าสุด ขณะนี้ได้มีเจ้าของหรือควาญช้างเข้ามาแจ้งขึ้นทะเบียนตั๋วรูปพรรณช้างกับทางอำเภอจำนวน 181 เชือก เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3 เชือก แต่จากการสำรวจปัจจุบัน พบว่า มีช้างเหลืออยู่ในพื้นที่ไม่ถึง 10 เชือก เนื่องจากเจ้าของได้นำไปเร่ร่อนขายกล้วย อ้อย และรับจ้างตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ ในหลายจังหวัด
พร้อมกันนี้ ยังได้แจ้งเตือนเจ้าของช้าง ที่ฝ่าฝืนไม่แจ้งขึ้นทะเบียน หรือการเคลื่อนย้ายช้างออกนอกพื้นที่ ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้