เชียงราย - สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เปิดเวทีพัฒนาข้าราชการไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน แห่งแรกที่เชียงราย ระดม ขรก.ภาคเหนือตอนบนเข้าติวเข้ม รับไทยยั้งด้อยเรื่องภาษาที่ 2 เล็งพัฒนากระบวนการเรียนภาษาอังกฤษ-เวียดนาม เพิ่ม
วันนี้ (20 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “การพัฒนาข้าราชการไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ณ ห้องดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมี นายทินกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ.เป็นประธานในพิธีเปิด และมีหัวหน้าส่วนราชการ จากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน เข้าร่วมรับฟัง
นายทินกร กล่าวว่า การจัดการสัมมนาครั้งนี้ เพราะต้องการพัฒนาบทบาทของข้าราชการไทย รองรับเออีซี โดยจะมีการจัดทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งเลือกภาคเหนือ และ จ.เชียงราย เป็นแห่งแรกเพราะเน้นไปที่จังหวัดที่มีบทบาทด้านกิจการชายแดน เกี่ยวข้องกับเออีซี รวมทั้งมีความตั้งใจ
เนื้อหาคือ ต้องการให้ความรู้เรื่องเออีซี ทั้งเรื่องประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับบทบาทของข้าราชการ ฯลฯ ต่อผู้บริหารในพื้นที่เพื่อให้นำไปกระจายสู่ข้าราชการต่างๆ ในระดับรองลงไปต่อไป จากนั้นขั้นตอนต่อไปจะเป็นการรับฟังความเห็นว่ามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายทินกร กล่าวอีกว่า สภาพของเออีซีหลังเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบนั้น ตนยอมรับว่า ยังไม่สามารถให้ภาพที่ชัดเจน แต่ถ้าดูตัวอย่างของกลุ่มประเทศอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ที่มีการวมตัวกันก่อนหน้านี้ ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด คือ การไหลเวียนของแรงงานที่มีความเป็นเสรีในแต่ละประเทศ เป็นต้น แต่ก็เชื่อว่า กลุ่มเออีซี คงจะไม่เหมือนยุโรปเสียเลยทีเดียว เพราะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ที่แตกต่างกัน และคงยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องใช้เงินสกุลเดียวกัน เพราะเออีซีคงต้องไปศึกษากรณีวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรปที่อาจจะต้องมีการยกเลิกเงินสกุลยูโรที่ใช้ร่วมกันด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ตนมองว่า สิ่งที่โดดเด่นที่จะเกิดขึ้นหลังเปิดใช้เออีซี คือ เรื่องเศรษฐกิจเพราะเป็นจุดแข็งที่สุดของกลุ่มมากกว่าเรื่องอื่นๆ และในส่วนของประเทศไทยก็ถือว่าภาคเอกชนได้รุกสู่การค้าในภูมิภาคนี้ไปอย่างมากแล้ว และข้าราชการก็จะช่วยเสริมให้ต่อไป
“สิ่งที่น่าจับตา คือ เรื่องการศึกษาและการใช้แรงงานภาคต่างๆ เพราะเมื่อเกิดเออีซี การหมุนเวียนของผู้ทำงานจะอิสรเสรีมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยต้องยอมรับว่า ความสามารถในการใช้ภาษาที่สอง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษยังถือว่าอยู่ในอันดับรั้งท้ายของภูมิภาค แต่ประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ พม่า สิงคโปร์ ฯลฯ ต่างมีความสามารถในภาษาที่สองทั้งสิ้น ดังนั้น กพ.ก็พยายามจะพัฒนาภาษาที่สองในสถานศึกษาต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษ และล่าสุด กำลังพัฒนาเรื่องภาษาเวียดนามด้วย”
อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีจุดแข็งเรื่องความเป็นศูนย์กลางของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาค และเป็นที่นิยมของผู้คนจากต่างประเทศ ดังนั้น ภาษาไทยยังมีความสำคัญสูง เพียงแต่เราก็ต้องปรับตัว เพราะตำแหน่งงานต่างๆ ที่สำคัญ หากว่าคนในกลุ่มเออีซี มีความสามารถหลายภาษารวมถึงภาษาไทยด้วย ก็อาจเกิดผลกระทบต่อการจ้างงานได้เช่นกัน
สำหรับโปรแกรมการจัดสัมมนาพัฒนาข้าราชการรองรับเออีซี ของ ก.พ.ถัดจากนี้จะจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตลอดปีงบประมาณ 2555 คือ จ.อุบลราชธานี จ.หนองคาย จ.เพชรบุรี และ จ.สงขลา เพื่อให้กลุ่มจังหวัดข้างเคียงได้เข้าร่วมนำข้อมูลไปพัฒนา