จันทบุรี - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่จันทบุรี ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อน เคลียปัญหาแบ่งแยกพื้นที่ ระหว่างทหารกับชาวบ้าน หวังให้ลงเอยด้วยดี
วันนี้ (17 ม.ค.) เวลา 16.00 น.นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ รองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะกรรมการ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้แทนฝ่ายทหารกองทัพเรือ กองบัญชาการป้องกันชายแดน จันทบุรี ตราด และกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจำนวน 44 ราย ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ทับซ้อน บริเวณบ้านจันตาแป๊ะ และเขาวังแจง ต.จันทเขลม ม.7 อ.เขาคิชฌกูฏ รอยต่อ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี หลังจากที่มีปัญหาพิพาทกันมากันมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ซึ่งทั้งกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ และทางการทหาร ต่างอ้างถึงสิทธิในการครอบครองที่ดินจำนวน 700 ไร่ โดยทางฝ่ายกองทัพเรืออ้างสิทธิใช้พื้นที่ ในการขอขยายพื้นที่เขตซ้อมรบตามมาตราที่ 57 ส่วนชาวบ้าน อ้างสิทธิในการถือครองที่ดินทำกินมานานกว่า 50 ปี
ด้าน นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ รองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในครั้งนี้ เป็นไปตามสิทธิมนุษยชน ที่กลุ่มชาวบ้านได้ยื่นฎีกา คำร้องต่อทางคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ เพื่อหาข้อสรุป แนวทางการแก้ไขปัญหา หลังกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำนำข้อมูลและหลักฐานต่างๆของทั้งสองฝ่ายกลับไปดำเนินการพิจารณา ตรวจสอบและแก้ไขโดยเร่งด่วนพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย และอยากให้ปัญหายุติลงด้วยดี
นางสมสิน พิเศษ ชาวบ้าน กล่าวว่า ที่ตรงนี้ชาวบ้านได้อยู่กันมา 30-40 ปี ตั้งแต่รุ่นพ่อ ปู่ย่าตายาย และอยู่มาปี 49 ก็ มีทหารที่เขาต้องการที่ดิน มาบอกว่าให้ชาวบ้านไปที่สถานีตำรวจว่ามีหมายมาว่าไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ พอไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวบ้านก็ได้ให้การปฏิเสธ ว่าชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ทหารชาวบ้านก็บอกไม่ใช่เขาก็มีหมายศาลมาชาวบ้าน ได้ไปเซ็นชื่อที่สถานีตำรวจพร้อมกับปฏิเสธว่าชาวบ้านไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทหาร แต่พอชาวบ้านไปเซ็น ทางทหารเอาไปขึ้นเป็นคดีและบอกว่าชาวบ้านบุกรุกที่
รวมทั้งกล่าวหาว่า ชาวบ้านทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.และชาวบ้านที่มาอยู่กันทั่วเลย ทำไมต้องมาเอาที่ของชาวบ้านที่มีอยู่ 40 ครัว เรือนนี้มันไม่ถูกต้อง คือ ชาวบ้านต้องการความเป็นธรรมทำไหมชาวบ้านรายอื่นๆที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ทำไมอยู่ได้ ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ศาล บางรายเรื่องก็อยู่ที่ศาลฎีกาและศาลได้ตัดสินหมดแล้ว
นางสมสิน กล่าวต่อไปว่า แต่ทางทหารไม่ยอม และได้ไปแจ้งสำนักงานบังคับคดีให้มาเอาป้ายมาติดตามบ้านของชาวบ้าน ซึ่งโดยทั่วไป ศาลต้องมีคำสั่งให้ชาวบ้านออก เพราะทหารรู้กฎหมายตรงนี้ และชาวบ้านไม่ออก ทางทหารจึงไปนำเจ้าหน้าที่บังคับคดีมา และทุกวันนี้ได้มีการไล่ชาวบ้านออกไปหลายหลังคาเรือนแล้ว ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกันหมด พวกเรา อยู่มาประมาณ 30-40 ปี มาจับมันไม่ถูกต้องจึงอยากขอความเป็นธรรม