xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจราชการลงพื้นที่แปดริ้ว สอบปัญหาร้องเรียนเหยื่อภัยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา -  ผู้ตรวจราชการแผ่นดินลงพื้นตรวจสอบปัญหาร้องเรียนจากเหยื่อภัยน้ำท่วม เหตุจากเหยื่อไม่ลงทะเบียนเป็นภาคเกษตรกรรมเอาไว้ล่วงหน้า จนถูกปิดกั้นสิทธิ์ในการขอค่าชดเชยความเสียหาย พร้อมเรียกประชุมฟังความเห็นจากหน่วยงานในพื้นที่ผู้เกี่ยวข้อง ก่อนเชิญสื่อออกนอกห้องประชุม ปัดยังไม่พบปัญหาอื่นในพื้นที่ เชื่อปัญหาร้องเรียนที่พบอาจมีเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นด้วย

วันนี้ (26 ธ.ค.54) เวลา 15.00 น. ดร.ประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมทีมสอบสวนเฉพาะกิจ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เรียกประชุมรับฟังความเห็นจากหน่วย งานราชการในพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา นายอำเภอราชสาส์น เกษตรอำเภอราชสาส์น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองใหม่ ประชุมหารือร่วมกัน
 
หลังจากมีเกษตรกรในเขตพื้นที่ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ร้องเรียนกรณีถูกกรีดกันไม่ให้ได้รับสิทธิ์ ในการได้รับค่าชดเชยจากเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมได้ใช้เวลาในการประชุมรับฟัง และสรุปปัญหาจากผู้เกี่ยวข้องเป็นเวลากว่า 1.30 ชม. โดยที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนได้เข้าร่วมรับฟังการประชุม ด้วยการเชิญสื่อต่างๆ ที่ไปติดตามทำข่าวออกนอกห้องประชุม
 
ต่อมาในเวลา 16.30 น. ดร.ประวิช ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับการร้องเรียนจากราษฎร ในเขตพื้นที่ อ.ราชสาส์น ผู้ซึ่งไม่ได้ลงทะเบียนเป็นเกษตรกรไว้ก่อนล่วงหน้า ว่าพื้นที่ด้านเกษตรกรรมของตนเองได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ที่มีการปล่อยระบายผันน้ำจากที่อื่นเข้ามาในพื้นที่ หลังจากได้เคยเข้าขอรับความช่วยเหลือ แจ้งชื่อว่าเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมตามหลักเกณฑ์ของทางราชการแล้ว แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ จึงทำให้ไม่ได้รับสิทธิความช่วยเหลือในกรณีเป็นเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติ
 
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ผู้ร้องไม่ได้มาขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรไว้ก่อนล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีหนังสือเวียนและแจ้งให้ทุกจังหวัด ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรโดยไม่มีกำหนดเวลา ผู้ร้องเรียนจึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวเลือกปฏิบัติ และจำกัดสิทธิของเกษตรกร โดยที่จะให้ความช่วยเหลือแต่เฉพาะผู้ที่เคยลงทะเบียนไว้เท่านั้น และยังเชื่อว่า ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่เคยได้ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากไม่ทราบความชัดเจนและความสำคัญของการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร
 
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วได้พบว่า ผู้ร้องเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่ด้านเกษตรกรรมได้รับความเสียหายจริง จำนวน 30 ไร่ ตามคำร้องเรียน จึงได้ทำความเข้าใจและมีข้อสรุปโดยเห็นตรงกันว่าจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายนี้ไปตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้องโดยที่มี อบต.ท้องถิ่น เป็นผู้รับรอง จึงถือว่าอยู่ในข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือต่อไปแล้ว  และยังทราบอีกด้วยว่าในส่วนของน้ำที่ไหลเข้ามาท่วมในพื้นที่ อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรานั้น เป็นน้ำที่ไหลลงมาจากทาง จ.ปราจีนบุรี และน้ำในทุ่งฝั่งตะวันออก คลองระบม และสียัด ไม่ใช่น้ำที่มาจากกรุงเทพฯ

และทางภาคเหนือ นอกจากนี้ยังทราบอีกว่าที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรลงทะเบียนนั้น ยังไม่ทั่วถึง จึงทำให้ผู้ร้องไม่ทราบว่าต้องมีการขึ้นทะเบียนก่อน จึงจะได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งทางเกษตรจังหวัด ก็ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อเปิดรับการลงทะเบียนเกษตรกรเป็น รอบ 2 รอบ 3 จนการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นไปอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ยังมีความสบายใจอีกว่า เงินช่วยเหลือที่เกษตรกรจะได้รับนั้น จะโอนผ่านเข้าทางบัญชีธนาคารของเกษตรกรที่ประสบภัยแต่ละรายโดยตรง ก็จะสามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาทำนองเดียวกันนี้ จะใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อว่าไม่เพียงแต่เฉพาะที่จังหวัดฉะเชิงเทราเท่านั้น ที่พบปัญหานี้ แต่ในจังหวัดอื่น ๆ ก็อาจมีปัญหานี้เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็จะให้การช่วยเหลือไปตามกติกา และมีท้องถิ่นเป็นผู้รับรอง เช่นเดียวกันกับรายนี้ เพื่อแก้ปัญหาต่อไป

ขณะเดียวกันก็จะนำปัญหานี้ไปเสนอแนะยังรัฐบาล เกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาหรือการขยายเวลาเพื่อให้ทางจังหวัดสามารถเก็บตกเกษตรกร และประชาชนที่มีปัญหาได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ได้มากที่สุด สำหรับการลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ในครั้งนี้ ก็เพื่อที่เข้ามาแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรที่ร้องเรียนในเรื่องนี้โดยตรงเพียงเรื่องเดียว และยังไม่พบว่า มีปัญหาอื่นนอกเหนือไปจากนี้อีก

กำลังโหลดความคิดเห็น