xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯอุดรพบกลุ่มอนุรักษ์ฯ อ้างยังไม่รู้เรื่องโครงการเหมืองโปแตช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี-ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่ได้ปักหลักชุมนุม ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดอุดรธานีมาเป็นระยะเวลา 4 วัน ได้ยุติการชุมนุมแล้ว หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีลงมาพบ พร้อมทั้งรับปากจะนำข้อเรียกร้องไปดำเนินการต่อ ด้านเอ็นจีโอ ตอกย้ำว่าต้นตอของปัญหาชาวบ้านมีพื้นฐานมาจากโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

วานนี้(23 ธ.ค.) ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 300 คน ที่ได้ทำการปักหลักชุมนุม บริเวณศาลากลางมาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม ได้ทำการยุติการชุมนุมแล้ว หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้มาพบกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพื่อรับฟังข้อเรียกร้องข้อต่อกรณีปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของชาวบ้านตามที่ได้นัดหมายไว้

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ พบกับผู้ว่าฯ ที่ห้องประชุมคำชะโนด ซึ่งตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ จำนวน 30 คน ได้สลับกันนำเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องต่อการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี โดยมี รองผู้ว่าราชการ อุตสาหกรรมจังหวัด นายอำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ ตลอดจนข้าราชการจังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมรับฟังการพูดคุยกันในครั้งนี้

นางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้กล่าวถึงการมาปักหลักชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านเป็นระยะเวลากว่า 4 วัน 3 คืน ในครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการนำเสนอปัญหาของโครงการเหมืองแร่โปแตชต่อผู้ว่าราชการ

“พวกเราต่อสู้มา 11 ปี พากันมาพบกับผู้ว่าเมืองอุดรคนนี้ ก็เป็นคนที่ 6 แล้ว แต่เหมืองแร่โปแตชก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ความแตกแยกของคนในชุมชนก็ยังคงมีอยู่ ผู้นำก็ยังวางตัวไม่เป็นกลาง เห็นได้จากการเซ็นใบไต่สวนของบรรดาผู้นำแต่ละตำบลที่ขัดกับข้อเท็จจริง โดยที่ผู้นำแทบจะไม่ได้ลงดูพื้นที่จริง ซึ่งที่มาของปัญหาก็มาจากการที่บริษัทโปแตช ได้เริ่มทำโครงการโดยที่ไม่ได้ถามและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับชาวบ้านมาตั้งแต่แรก” นางมณี กล่าว

ด้านนายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวถึงการพบกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และแสดงความคิดเห็นต่อโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานีว่า

ตนเพิ่งมารับตำแหน่งผู้ว่าอุดรมาได้ไม่นาน จึงยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหมืองแร่โปแตชมากสักเท่าไหร่ ในส่วนเรื่องของข้อเรียกร้องที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เสนอมานั้น ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯตนก็จะรับดำเนินการให้ คือ กำชับให้หน่วยงานราชการในจังหวัดอุดรธานีวางตัวเป็นกลางต่อโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี และตนก็จะวางตัวเป็นกลางต่อเรื่องนี้ด้วย ส่วนเรื่องไหนที่อยู่เหนืออำนาจของตน ก็จะนำเรื่องเสนอต่อไปยังปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้มีการเปิดเผยถึงการชุมนุมของชาวบ้านในครั้งนี้ว่า

“กรณีที่กลุ่มชาวบ้านเรียกร้องให้ยกเลิกการไต่สวนที่เป็นเท็จนั้น สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดคือบทบาทของผู้นำในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผู้นำของทั้ง 4 ตำบล ในพื้นที่โครงการเหมืองซึ่งอ้างตัวเป็นตัวแทนของชาวบ้านได้เซ็นต์รับรองใบไต่สวนที่เป็นเท็จ บทบาทของผู้นำท้องถิ่นจึงสามารถชี้เป็นชี้ตายให้เกิดโครงการหรือไม่เกิดโครงการได้เลย ทำให้เห็นว่าผู้นำในท้องถิ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับแร่”

นายสุวิทย์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้นำส่วนท้องถิ่นขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตชนั้น สิ่งสำคัญเป็นประเพราะความด้อยประสิทธิภาพของกรมการปกครองที่ไม่มีการสร้างความรู้และปัญญาให้กับผู้นำส่วนท้องถิ่น มุ่งแต่สร้างให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการกดทับประชาชน ทั้งที่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 เปิดโอกาสให้สิทธิกับชุมชนในการปกป้องทรัพยากร แต่กรมการปกครองเป็นเหมือนไดโนเสาร์ไม่เท่าทันต่อเนื้อหาสาระพวกนี้ เป็นที่มาให้กำนันทั้ง 4 ตำบลที่เซ็นต์ใบไต่สวนที่เป็นเท็จต้องมารับผิดชอบในครั้งนี้

โดยเฉพาะผู้ว่าฯนั้นยังขาดความรู้ต่อเรื่องเหมืองโปแตช เพราะเวลาชาวบ้านซักถามก็โยนให้กับอุตสาหกรรมจังหวัด ทำให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของส่วนจังหวัดอุดรธานี ทั้งที่กลุ่มอนุรักษ์ต่อสู้เรื่องนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 11 ปี แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการพูดคุยภายในห้องประชุมแล้วเสร็จ ผู้ว่าฯ ได้ลงมาพบกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในบริเวณที่ชาวบ้านทำการปักหลักชุมนุม เพื่อพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้าน พร้อมทั้ง ให้สัญญากับชาวบ้านว่า จะวางตัวเป็นกลางต่อโครงการเหมืองแร่โปแตช หลังจากนั้นชาวบ้านจึงได้ยุติการชุมนุม เพราะถือว่าบรรลุข้อเรียกร้องต่อการชุมนุมในครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น