xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านต้านเหมืองโปแตซอุดรหารือผู้ว่าฯ จี้โละใบไต่สวนขอประทานบัตร ยันเป็นเอกสารเท็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีหลายร้อยคนชุมนุมเรียกร้องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรฯแก้ไขปัญหากรณีโครงการเหมืองแร่โปเตซ โดยเรียกร้องให้มีการยกเลิกใบไต่สวนประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ฯของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น (เอพีพีซี) จำกัด ที่ทางกลุ่มฯยืนยันว่าเป็นเท็จ ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เข้าพบผู้ว่าฯเรียกร้องยกเลิกใบไต่สวนประกอบการขอประทานบัตรเหมืองโปแตซ หลังชุมนุมยืดเยื้อติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เผยผลการเจรจากับกำนันในเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ลงชื่อรับรองใบไต่สวนที่เป็นเท็จ กำนันแต่ละตำบลต่างปัดความรับผิดชอบพ้นตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่วงเข้าวันที่ 4 แล้วที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีหลายร้อยคนชุมนุมเรียกร้องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี แก้ไขปัญหากรณีโครงการเหมืองแร่โปแตซ โดยเรียกร้องให้มีการยกเลิกใบไต่สวนประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ฯของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น (เอพีพีซี) จำกัด ที่ทางกลุ่มยืนยันว่า เป็นเท็จ ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ล่าสุด ณ เวลา 11.30 น.วันนี้ (23 ธ.ค.) ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯได้เข้าพบ นายแก่นเพชร ช่วงรังสี ผู้ว่าราชการจังหวัด และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด เพื่อเสนอให้พิจารณาและปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง คาดว่า การเจรจาข้อเรียกร้องน่าจะใช้เวลาหลายชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (22 ธ.ค.) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ราว 300 คนได้ปักหลักชุมนุมค้างคืนติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ณ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อรอพบผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีคนใหม่ นายแก่นเพชร ช่วงรังษี ในการแก้ไขปัญหากรณีเหมืองแร่โปแตซที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทว่านายแก่นเพชร ติดราชการ

ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงได้ร่วมประชุมเจรจาตามที่นัดหมายกับ กำนันทั้ง 5 ตำบล คือ ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม ต.หนองไผ่ ต.โนนสูง และต.หนองขอนกว้าง อ.เมือง พร้อมทั้ง นายกเทศบาลโนนสูงน้ำคำ อ.เมือง ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ลงชื่อรับรองใบไต่สวนพื้นที่ดังกล่าว โดยมีนายอำเภอเมือง นายอำเภอประจักษ์ฯ ผู้แทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เขต 2 และหัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้เข้าประชุมร่วม ณ ห้องคำชะโนด ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดหมายได้มีเพียง กำนันตำบลห้วยสามพาด กำนันตำบลนาม่วง ซึ่งมาพร้อมกับ นายอำเภอประจักษ์ฯ และตัวแทนจาก กพร.และอุตสาหกรรมจังหวัด เท่านั้นที่เข้าร่วมประชุม

ในระหว่างการประชุมได้มีการพูดคุยซักถามข้อเท็จจริงของใบไต่สวนพื้นที่ โดยมีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซักถามและอภิปรายถึงข้อมูลในใบไต่สวนพื้นที่ของฝ่ายบริษัทฯ ว่าไม่ตรงตามข้อเท็จจริงในพื้นที่ เช่น การไม่พูดถึง พื้นที่โนนหมากโม ซึ่งเป็นพื้นที่สูงที่เป็นแหล่งต้นน้ำของชาวบ้าน และทางกลุ่มชาวบ้าน เห็นว่าข้อมูลในใบไต่สวนเป็นเท็จ ควรให้มีการยกเลิกใบไต่สวน

นายถาวร มโนศิลป์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า สภาพพื้นที่ระบบนิเวศ ชาวบ้านหาอยู่หากิน ใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนแก่ รู้ทุกเส้นว่าน้ำไหลไปไหน รู้ว่าตรงไหนโนนตรงไหนไม่โนน ถ้าทางกำนันยังไม่เชื่อกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ขอเชิญลงไปสำรวจพื้นที่ด้วยกันได้ แล้วจะรู้ข้อเท็จจริงสภาพจริงเป็นอย่างไร

ขณะที่กำนันทั้ง 2 ตำบล ได้ชี้แจงในเรื่องการลงชื่อในใบไต่สวนพื้นที่ดังกล่าวที่คล้ายกันว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ กพร.และเจ้าหน้าที่บริษัท เอพีพีซี มาพบยังที่ทำการกำนัน และได้นำใบไต่สวนพื้นที่ ที่บริษัท เอพีพีซี ไต่สวนพื้นที่เรียบร้อยแล้วมาให้ดู พร้อมด้วยแผนที่รังวัดขอบเขตการขอประทานบัตร เมื่ออ่านและตรวจดูหนังสือและแผนที่ เชื่อว่า น่าจะถูกต้อง จึงได้ลงชื่อรับรองลงไป และก็เชื่อข้อมูลเรื่องเส้นทางน้ำไหลถูกต้องตามที่กลุ่มอนุรักษ์อธิบาย

นายณัฐพงศ์ คำลาภ กำนันตำบลนาม่วง กล่าวว่า ตนเกิดและเติบโตในเขตพื้นที่มีการสำรวจตามใบไต่สวนพื้นที่ พอได้ฟังข้อมูลจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ ที่อธิบายถึงสภาพพื้นที่ จึงเห็นว่าสิ่งที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์อธิบายมีความถูกต้อง

จนกระทั่งในช่วงบ่าย เวลาประมาณ 13.30 น.กลุ่มอนุรักษ์กว่า 200 คน ได้เคลื่อนขบวนไปยังที่ว่าการอำเภอเมือง เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากกำนันในเขต อ.เมือง ในพื้นที่คำขอประทานบัตร ที่ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมในการประชุม ทั้งที่ได้มีการประสานนัดหมายกันไว้แล้ว

โดยทางกลุ่มอนุรักษ์ได้เคลื่อนปิดล้อมบริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอ เพื่อกดดันให้นายอำเภอเรียกตัวกำนันมาพบกลุ่มอนุรักษ์เพื่อเจรจา จนเมื่อเวลาประมาณ 15.30 น.กำนันจาก ต.โนนสูงได้มาเจรจากับกลุ่มอนุรักษ์

ซึ่ง นายประทิน วงค์ศร กำนันตำบลโนนสูง กล่าวว่า ที่ต้องเซ็นชื่อลงไป ก็ทำไปเพราะมีเขตพื้นที่ดูแลรับผิดชอบอยู่ในเขตเหมืองด้วย ก็ต้องเซ็นต์รับทราบ ในส่วนข้อเท็จจริงความถูก-ผิดในข้อมูลใบไต่สวนไม่ทราบ เป็นเรื่องของพื้นที่อื่น รับทราบแต่เพียงพื้นที่ตนเองดูแลเท่านั้น

ทางด้าน นายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.อุดรธานี กล่าวว่า จะมีการทำเป็นบันทึกถ้อยคำของกำนันจากการที่ได้เจรจากันในวันนี้แล้วส่งต่อไปยังกรม พร้อมกับข้อโต้แย้งรายงานการไต่สวนของทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพื่อให้กรมพิจารณาว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น