xs
xsm
sm
md
lg

สวนสัตว์โคราชเปิดตัว “งูเขียวหางไหม้ภูเก็ต” สายพันธุ์ใหม่ของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวนสัตว์นครราชสีมา เปิดตัวงูเขียวหางไหม้สายพันธุ์ใหม่ของโลก ชื่อ “งูเขียวหางไหม้ภูเก็ต” จะเปิดให้ประชาชนนักท่องเที่ยวได้ชมในเทศกาลปีใหม่ 2555  วันนี้ ( 23 ธ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สวนสัตว์โคราช เปิดตัวงูเขียวหางไหม้สายพันธุ์ใหม่ของโลก ชื่อ “งูเขียวหางไหม้ภูเก็ต” เผยใช้เวลาศึกษาวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยไทยกับต่างชาติ นานร่วม 2 ปี ก่อนเปิดให้ ปชช.นักท่องเที่ยวชมช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ระบุ เป็นงูที่มีลวดลายละเอียดกว่างูเขียวหางไหม้ทั่วไป ชี้ พิษแรงไม่แตกต่างกัน พบเฉพาะในเกาะภูเก็ตเท่านั้น

วันนี้ (23 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น.ที่สวนสัตว์นครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดร.สุเมธ กมลนรนาถ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์วิจัยและการศึกษา องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2554 โดยมี นายบัญญัติ อินทร์สุวรรณ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา พร้อมด้วย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมนิทรรศการวันคุ้มครองสัตว์ป่า ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการ 5 ส่วน เช่น ประวัติวันคุ้มครองสัตว์ป่า, สวนสัตว์กับการอนุรักษ์สัตว์ป่า, ความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย, งานวิจัยในสวนสัตว์ที่แล้วเสร็จ และสัตว์ป่าหายาก สัตว์พบใหม่ และสัตว์แปลก และโครงการเข้าศึกษาเรียนรู้ในสวนสัตว์ โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่คอยบรรยายให้ความรู้ตามส่วนแสดงนิทรรศการต่างๆ และยังมีกิจกรรมให้เยาวชนได้วาดภาพระบายสีสัตว์ป่า ชมสารคดีเกี่ยวกับวันคุ้มครองสัตว์ป่า ร่วมเล่นเกมตอบคำถามเกี่ยวกับวันคุ้มครองสัตว์ป่า รับของรางวัลมากมาย อีกทั้งยังมีการแจกพันธุ์พืชให้กับประชาชนนำกลับไปปลูกที่บ้านฟรีด้วย

นอกจากนี้ สวนสัตว์นครราชสีมา ยังได้เปิดตัวงูเขียวหางไหม้ชนิดใหม่ของโลกในงานดังกล่าวด้วย โดย นายกีรติ กันยา หัวหน้างานสัตว์เลื้อยคลานสวนสัตว์นครราชสีมา หนึ่งในทีมผู้ที่ค้นพบ กล่าวว่า คณะวิจัยได้ค้นพบงูเขียวหางไหม้ชนิดใหม่ของโลก อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นบนเกาะภูเก็ต โดยค้นพบตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.2552 แต่ต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยและทดสอบสายพันธุ์นานกว่า 2 ปี กระทั่งแน่ใจว่างูเขียวหางไหม้ที่พบในครั้งนี้ เป็นงูเขียวชนิดใหม่ของโลก และได้รับการตีพิมพ์รับรองโดยวารสารนานาชาติรัสเซีย เจอร์นัล ออฟเฮอร์ปิโตโลจี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ชื่องูที่ค้นพบใหม่นี้ว่า “งูเขียวหางไม้ภูเก็ต” ตามแหล่งที่ค้นพบ

สำหรับการค้นพบครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ทีมงานวิจัยและตรวจสอบสภาพป่า ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างสวนสัตว์นครราชสีมา และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานและคุ้มครองสัตว์ป่า จากทั้งในและต่างประเทศ เช่น นายโอลิเวียร์ โอ เอส จี พาว์เวล ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลานจากประเทศเบลเยียม, นายธวัช นิติกุล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต, นายสุวิทย์ พันนาดี ผู้อำนวยการโครงการคืนชะนีสู่ป่า มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ได้พบเห็นงูชนิดนี้จากภาพถ่ายของสมาชิกชมรมรักสัตว์เลื้อยคลาน ผ่านทางเว็บไซต์ ที่นำมาโพสต์พร้อมกับระบุแหล่งที่พบซึ่งเป็นป่าดิบชื้นแห่งหนึ่งในเกาะภูเก็ต

คณะวิจัยได้สังเกตเห็นถึงความผิดแปลกจากงูเขียวหางไหม้ทั่วไป ด้วยลวดลายที่แตกต่าง มีการจัดระเบียบลวดลายที่ชัดเจนต่างจากงูเขียวหางไหม้ทั่วไป จึงตัดสินใจเดินทางไปสำรวจ กระทั่งสำรวจพบในป่าดิบชื้นแห่งหนึ่ง บนเกาะภูเก็ต และนำมาวิจัยเทียบเคียงสายพันธุ์ กระทั่งรู้จนแน่ชัดว่าเป็นงูเขียวหางไหม้ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน

นายกีรติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่งูเขียวหางไหม้ภูเก็ต แตกต่างจากงูเขียวหางไหม้ทั่วไป คือ จะมีลวดลายที่เด่นชัด และเป็นระเบียบกว่างูเขียวหางไหม้ทั่วไป อีกทั้งจำนวนเกล็ดจะมากและถี่กว่า งูเขียวหางไหม้ภูเก็ตตัวผู้จะมีลายที่ชัดเจนและเป็นระเบียบมากกว่าตัวเมีย และมีจุดขาวอมฟ้าตามแนวกลางหลัง ส่วนเพศเมียมีลายพาดกลางหลัง มีแถบสีน้ำตาลแดงและเส้นสีขาวคาดจากส่วนท้ายของหัวทั้ง 2 เพศ บนหัวมักมีสีแดงเลือดนกแต้มโดยเฉพาะเพศผู้ เส้นข้างขอบท้องเป็นเส้นสีขาวหรือเขียวอ่อนอยู่ด้านบน และสีแดงด้านล่างจากคอถึงแนวทวารร่วม หางมีแถบสีน้ำตาลแดงคาดเป็นบั้ง และไม่มีเส้นขอบหางตามยาว ใต้หางมีจุดประสีแดงและสีขาวขนสีเขียว และเพศเมียจะมีสีเขียวอ่อนประกายส่วนเพศผู้จะมีสีเขียวเข้มกว่า เป็นงูพิษอ่อนอันตรายความรุนแรงของพิษคล้ายกันกับงูเขียวหางไหม้ทั่วไป

“หลังจากที่วิจัยมานานกว่า 2 ปี ล่าสุด ก็ได้รับการตีพิมพ์รับรองจากวารสารนานาชาติรัสเซีย เจอร์นัล ออฟเฮอร์ปิโตโลจี ว่า เป็นงูเขียวหางไหม้สายพันธุ์ใหม่ของโลก และได้มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า งูเขียวหางไหม้ภูเก็ต ตามแหล่งที่พบแล้วด้วย โดยจะเปิดให้ประชาชนได้ชมในเทศกาลปีใหม่นี้” นายกีรติ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น