ท่านผู้อ่านครับ ผู้เขียนได้กล่าวถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้คนอายุยืน ซึ่งมีหลายประการด้วยกัน โดยได้แสดงงานวิจัยทางการแพทย์ และคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งสอนให้เราดำเนินชีวิตตามแนวพุทธ และได้ชี้ให้เห็นว่า วิถีชีวิตพระป่า เป็นวิถีทางที่ทำให้คนอายุยืนได้ คิดว่าได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆครบถ้วนแล้ว ตอนนี้ก็จะขอกล่าวถึงเรื่องของคนอายุยืน เป็นตอนสุดท้าย
ความหวังของคนทั่วไปประการหนึ่ง คือ ขอให้มีสุขภาพดี อายุยืน แต่คนเราอายุจะยืนหรือสั้นก็ขึ้นกับกรรมที่ทำมาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
สำหรับเราที่กำลังมีชีวิตอยู่ พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตของเรามากกว่าการมีอายุสั้นหรืออายุยาว
บางคนมีอายุยาวแต่ใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่มีสาระแก่นสารอะไร บางคนอายุสั้นแต่การมีชีวิตของเขาก็เป็นประโยชน์อย่างมากกับตนเอง ครอบครัวและสังคม อันนี้ก็น่ายกย่องมากกว่า ท่านให้ความสำคัญต่อเรื่องความประพฤติของคนหรือศีลนั่นเอง ดังพุทธพจน์ ที่ว่า
“ผู้มีศีล เพ่งพินิจ แม้มีชีวิตเพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าคนทุศีล มีจิตไม่ตั้งมั่น ผู้มีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี”
นอกจากนั้น ท่านยังตำหนิผู้ที่ปล่อยชีวิต ผู้ไม่รู้จักใช้ทรัพย์เข้าหาธรรม ดังนี้
“พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนเป็นคนดี ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้ ย่อมซบเซาเหมือนนกกระเรียนแก่ซบเซาอยู่ในเปือกตมไร้ปลา ฉะนั้น
พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนเป็นคนดี ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้ ย่อมนอนรำพึงถึงความหลัง ดุจลูกธนูที่พ้นจากแล่ง ฉะนั้น”
(ขุททกนิกาย ธรรมบท)
“โภคทรัพย์ทั้งหลาย ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม แต่จะไม่ทำลายคนที่แสวงหาฝั่ง(คือ พระนิพพาน) เพราะความทะยานอยากในโภคทรัพย์ คนมีปัญญาทราม(ผู้ไม่รู้จักใช้ทรัพย์ทำประโยชน์) จึงทำลายตนเองดุจทำลายผู้อื่น (เช่นใช้ทรัพย์ไปกับอบายมุข)”
(ขุททกนิกาย ธรรมบท)
ท่านจะสอนให้หาทรัพย์ไว้ใช้ในยามชรา และเอาไว้ทำบุญกุศล ช่วยเหลือผู้อื่น การให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา เป็นแก่นสารของชีวิต เมื่อเรามีปัจจัย 4 พร้อมแล้วก็ให้เข้าหาธรรม ดังที่ท่านตรัสไว้ว่า
“สัตว์ผู้มีอันจะต้องตาย เมื่อเกิดมาแล้ว ควรสร้างกุศลไว้ให้มาก เหมือนช่างดอกไม้ร้อยพวงมาลัยไว้เป็นจำนวนมากจากกองดอกไม้ ฉะนั้น”
(ขุททกนิกาย ธรรมบท)
“ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้วก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงในที่ทุกสถานในโลกนี้ ศีลเท่านั้นเป็นยอด และผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลกและในเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา”
(สีลวเถรคาถา ขุททกนิกาย เถรคาถา)
“ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อย จะต้องไปสู่ภพหน้า พึงวินิจฉัยการด้วยความรู้ความคิด พึงประพฤติกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ที่จะไม่ตายเป็นไม่มี ผู้ใดอยู่ได้นาน ผู้นั้นก็อยู่ได้แค่ร้อยปี จะเกินไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย”
(ขุททกนิกาย มหานิเทศ)
ปัจจุบันนี้ โลกเราเปลี่ยนไปมาก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อากาศ อาหาร สารเคมีเป็นพิษต่างๆจากอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรป่าไม้ที่ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ภาวะโลกร้อน ฯลฯ
นอกจากนั้น สังคม การเมือง เศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด ที่มีการเบียดเบียน การเอารัดเอาเปรียบ การแข่งขันกัน จะทำลายมนุษยชาติลง ทำให้เราเป็นโรคทางกายและจิตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจะลำบากขึ้น มีความทุกข์กายและใจกันมาก
ดังนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการเป็น อยู่ในอนาคต
ปัจจุบัน แพทย์ทางตะวันตกได้ใช้การทำสมาธิ การเจริญสติ มาใช้ในการดูแลสุขภาพกันมาก ดังที่ได้กล่าวถึงในตอนที่ผ่านมา
โปรแกรมสุขภาพที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น 8 สัปดาห์เพื่อการมีสุขภาพดี ของ นพ.แอนดรู ไวล์ โปรแกรมของศจ.เฮอร์เบอร์ต เบนสัน ที่ฮาร์วาร์ด ล้วนแต่ใช้สมาธิบำบัด
คนอเมริกันเวลาเครียดมีปัญหาทางจิตใจ เมื่อก่อนก็จะไปหาจิตแพทย์ ซึ่งรักษาโดยให้ยาและทำจิตบำบัด ซึ่งพบว่าได้ผลไม่ดี ปัจจุบัน เขาใช้การฝึกสมาธิรักษาโรคทางกายและจิตซึ่งได้ผลดีมาก
ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ เราก็อาศัยพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก ถ้าปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้าก็จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ เป็นการไม่ประมาท ช่วยให้เราอยู่ในโลกที่สับสนวุ่นวายได้อย่างไม่เดือดร้อน สามารถทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และตนได้เต็มที่ตามศักยภาพที่เรามีอยู่ เท่ากับเราเกิดมาไม่เสียเปล่า มีอายุยืนมากเท่าไหร่ ก็เป็นประโยชน์มากเท่านั้น
สำหรับบทความเรื่อง คนอายุยืนก็จะขอยุติไว้เพียงเท่านี้ครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
ความหวังของคนทั่วไปประการหนึ่ง คือ ขอให้มีสุขภาพดี อายุยืน แต่คนเราอายุจะยืนหรือสั้นก็ขึ้นกับกรรมที่ทำมาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
สำหรับเราที่กำลังมีชีวิตอยู่ พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตของเรามากกว่าการมีอายุสั้นหรืออายุยาว
บางคนมีอายุยาวแต่ใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่มีสาระแก่นสารอะไร บางคนอายุสั้นแต่การมีชีวิตของเขาก็เป็นประโยชน์อย่างมากกับตนเอง ครอบครัวและสังคม อันนี้ก็น่ายกย่องมากกว่า ท่านให้ความสำคัญต่อเรื่องความประพฤติของคนหรือศีลนั่นเอง ดังพุทธพจน์ ที่ว่า
“ผู้มีศีล เพ่งพินิจ แม้มีชีวิตเพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าคนทุศีล มีจิตไม่ตั้งมั่น ผู้มีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี”
นอกจากนั้น ท่านยังตำหนิผู้ที่ปล่อยชีวิต ผู้ไม่รู้จักใช้ทรัพย์เข้าหาธรรม ดังนี้
“พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนเป็นคนดี ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้ ย่อมซบเซาเหมือนนกกระเรียนแก่ซบเซาอยู่ในเปือกตมไร้ปลา ฉะนั้น
พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนเป็นคนดี ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้ ย่อมนอนรำพึงถึงความหลัง ดุจลูกธนูที่พ้นจากแล่ง ฉะนั้น”
(ขุททกนิกาย ธรรมบท)
“โภคทรัพย์ทั้งหลาย ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม แต่จะไม่ทำลายคนที่แสวงหาฝั่ง(คือ พระนิพพาน) เพราะความทะยานอยากในโภคทรัพย์ คนมีปัญญาทราม(ผู้ไม่รู้จักใช้ทรัพย์ทำประโยชน์) จึงทำลายตนเองดุจทำลายผู้อื่น (เช่นใช้ทรัพย์ไปกับอบายมุข)”
(ขุททกนิกาย ธรรมบท)
ท่านจะสอนให้หาทรัพย์ไว้ใช้ในยามชรา และเอาไว้ทำบุญกุศล ช่วยเหลือผู้อื่น การให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา เป็นแก่นสารของชีวิต เมื่อเรามีปัจจัย 4 พร้อมแล้วก็ให้เข้าหาธรรม ดังที่ท่านตรัสไว้ว่า
“สัตว์ผู้มีอันจะต้องตาย เมื่อเกิดมาแล้ว ควรสร้างกุศลไว้ให้มาก เหมือนช่างดอกไม้ร้อยพวงมาลัยไว้เป็นจำนวนมากจากกองดอกไม้ ฉะนั้น”
(ขุททกนิกาย ธรรมบท)
“ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้วก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงในที่ทุกสถานในโลกนี้ ศีลเท่านั้นเป็นยอด และผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลกและในเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา”
(สีลวเถรคาถา ขุททกนิกาย เถรคาถา)
“ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อย จะต้องไปสู่ภพหน้า พึงวินิจฉัยการด้วยความรู้ความคิด พึงประพฤติกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ที่จะไม่ตายเป็นไม่มี ผู้ใดอยู่ได้นาน ผู้นั้นก็อยู่ได้แค่ร้อยปี จะเกินไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย”
(ขุททกนิกาย มหานิเทศ)
ปัจจุบันนี้ โลกเราเปลี่ยนไปมาก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อากาศ อาหาร สารเคมีเป็นพิษต่างๆจากอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรป่าไม้ที่ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ภาวะโลกร้อน ฯลฯ
นอกจากนั้น สังคม การเมือง เศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด ที่มีการเบียดเบียน การเอารัดเอาเปรียบ การแข่งขันกัน จะทำลายมนุษยชาติลง ทำให้เราเป็นโรคทางกายและจิตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจะลำบากขึ้น มีความทุกข์กายและใจกันมาก
ดังนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการเป็น อยู่ในอนาคต
ปัจจุบัน แพทย์ทางตะวันตกได้ใช้การทำสมาธิ การเจริญสติ มาใช้ในการดูแลสุขภาพกันมาก ดังที่ได้กล่าวถึงในตอนที่ผ่านมา
โปรแกรมสุขภาพที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น 8 สัปดาห์เพื่อการมีสุขภาพดี ของ นพ.แอนดรู ไวล์ โปรแกรมของศจ.เฮอร์เบอร์ต เบนสัน ที่ฮาร์วาร์ด ล้วนแต่ใช้สมาธิบำบัด
คนอเมริกันเวลาเครียดมีปัญหาทางจิตใจ เมื่อก่อนก็จะไปหาจิตแพทย์ ซึ่งรักษาโดยให้ยาและทำจิตบำบัด ซึ่งพบว่าได้ผลไม่ดี ปัจจุบัน เขาใช้การฝึกสมาธิรักษาโรคทางกายและจิตซึ่งได้ผลดีมาก
ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ เราก็อาศัยพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก ถ้าปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้าก็จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ เป็นการไม่ประมาท ช่วยให้เราอยู่ในโลกที่สับสนวุ่นวายได้อย่างไม่เดือดร้อน สามารถทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และตนได้เต็มที่ตามศักยภาพที่เรามีอยู่ เท่ากับเราเกิดมาไม่เสียเปล่า มีอายุยืนมากเท่าไหร่ ก็เป็นประโยชน์มากเท่านั้น
สำหรับบทความเรื่อง คนอายุยืนก็จะขอยุติไว้เพียงเท่านี้ครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)