xs
xsm
sm
md
lg

วอนรัฐทบทวนสร้างโรงงานยาสูบใหม่ในนิคมฯโรจนะ-ชี้เชียงใหม่เหมาะกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - 5 สมาคมผู้บ่มฯ ยาสูบร้องรัฐบาลทบทวนการสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ หลังน้ำท่วมใหญ่ทำนิคมฯพังยับ หวั่นอนาคตหากน้ำท่วม-โรงงานปิด เกษตรกร-ผู้บ่มใบยาเดือดร้อนทั้งระบบแน่ เสนอทบทวนแผนสร้างโรงงานที่เชียงใหม่ ชี้เหมาะสมทั้ง “ใกล้แหล่งเพาะปลูก-ประหยัดงบประมาณ-ช่วยสร้างงาน” เตรียมเดินหน้ายื่นหนังสือ รมช.คลังต่อ

วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ ตัวแทนจากสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบ 5 สมาคมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.เชียงรายและพะเยา จ.ลำปาง จ.แพร่ และ จ.น่าน นำโดย นายสุธี ชวชาติ นายกสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบ จ.ลำปาง ได้จัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงข้อเรียกร้องของสมาคมที่ต้องการให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตัวแทนจากสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบ ให้เหตุผลว่า จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลางในปีนี้ ทำให้สมาคมมีความเป็นห่วงว่า การสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ในพื้นที่ของสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมานั้นมีความเสี่ยงสูง ในการรับมือกับเหตุอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เช่นเดียวกับภาครัฐที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการป้องกันหรือวางระบบป้องกันอุทกภัย

ขณะเดียวกัน ในอนาคตหากโรงงานแห่งใหม่ประสบเหตุอุทกภัยจนไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรและผู้บ่มใบยาสูบซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานยาสูบเป็นคู่ค้ารายใหญ่

ขณะเดียวกัน ตัวแทนจากสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยมีการพิจารณาและถูกยกเลิกไปอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าการก่อสร้างในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของโรงงานยาสูบเองจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งไม่มีความเสี่ยงในเรื่องอุทกภัย

นอกจากนี้ การจัดตั้งโรงงานยาสูบในภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งผลิตใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียที่สำคัญจะช่วยลดต้นทุนทางด้านการขนส่งใบยาเข้าสู่โรงงาน รวมทั้งยังสร้างงานให้กับท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย

ตัวแทนจากสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบทั้ง 5 สมาคม ระบุว่า จะยื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในวันนี้ รวมทั้งจะยื่นข้อเสนอต่อโรงงานยาสูบต่อไป

ส่วนการเคลื่อนไหวต่อจากนี้จะรอดูท่าทีของรัฐบาลต่อเรื่องดังกล่าวก่อน แต่จะมีการติดตามความคืบหน้าของเรื่องนี้โดยตลอดอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาการตัดสินใจในเรื่องการสร้างโรงงานแห่งใหม่ สมาคมหรือเกษตรกรไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

การก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ เป็นผลสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2534 ที่ให้ย้ายโรงงานยาสูบไปยังภูมิภาค ซึ่งในช่วงเริ่มต้นโครงการ โรงงานยาสูบได้พิจารณาใช้พื้นที่ราชพัสดุ ต.แมะดำ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ แต่โครงการดังกล่าวได้หยุดชะงักหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และในปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวแทน

จากนั้นในปี 2548 คณะรัฐมนตรีในสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาการใช้ที่ดินบ้านแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ดินของโรงงานยาสูบเอง โดยการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรจะทำในรูปแบบ G to G กับประเทศจีน มีบริษัท China Yunnan Corporation for Internation Techno-Economic Coopertion หรือ CYC เป็นผู้ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเกิดปัญหาหลายประการ ก่อนจะถูกคณะรัฐมนตรีในสมัยของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีมติยกเลิกโครงการเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2550 พร้อมทั้งเปลี่ยนให้โรงงานยาสูบหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ในนิคม/สวน/เขตอุตสาหกรรมที่มีรัศมีไม่เกิน 200 กม.จากกรุงเทพฯ แทน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2550

ปัจจุบันโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ดำเนินการก่อสร้างบนที่ดินของสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ส่วนขยายระยะที่ 6 ต.อุทัย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา มูลค่าโครงการประมาณ 16,200 ล้านบาท มีบริษัท ช.การช่าง เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยโรงงานแห่งใหม่จะนี้มีกำลังการผลิต 32,000 ล้านมวนต่อปี

ทั้งนี้ ในปัจจุบันโครงการดังกล่าวถูกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) ไต่สวนเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินที่ไม่ตรงตามข้อกำหนด ขอบเขต เงื่อนไขการจัดซื้อที่ดินและเกณฑ์การพิจารณาจัดซื้อที่ดิน (TOR) และยังไม่มีข้อสรุป

ขณะที่กระทรวงการคลังก็เตรียมที่จะพิจารณาเช่นกันว่าจะทำการย้ายการผลิตไปยังโรงงานแห่งใหม่นี้ทั้งหมดหรือย้ายเพียงบางส่วน หลังจากเหตุอุทกภัยได้สร้างความเสียหายต่อสวนอุตสาหกรรมโรจนะและทำให้การก่อสร้างโรงงานต้องล่าช้าออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น