xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวปากอ่าวบางปะกงซบพิษน้ำเหนือทำ “ปลาตีนแสนรู้” ตายยกฝูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักอนุรักษ์เมืองแปดริ้วเศร้า เหตุจากน้ำจืดไหลลงทะเลมาก พร้อมนำพาสารพิษปนเปื้อนปล่อยทิ้งทะเลปากอ่าวแพร่กระจายเต็มพื้นที่ ทำฝูงปลาตีนแสนรู้พร้อมเพื่อนสัตว์น้ำชายฝั่งหลายชนิดลอยตายเกลื่อน

เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (9 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายปรีชา สุวรรณ อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 8 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวบ้านนักอนุรักษ์ป่าชายเลน ที่เคยเลี้ยงฝูงปลากระจังหรือปลาตีนไว้ภายในบริเวณบ้าน ซึ่งมีสภาพเป็นป่าชายเลน และเปิดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงได้ชม จนได้รับความสนใจมานาน เนื่องจากปลาตีนบริเวณนี้มีขนาดใหญ่ และแสนรู้ ชอบเล่นกับคน โดยเฉพาะเด็กๆ ว่า

ปัจจุบันปลาฝูงนี้กลับตายยกฝูง หลังที่ผ่านมาได้มีการระบายน้ำเหนือทิ้งออกลงสู่ทะเลผ่านเข้าทางบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงเป็นจำนวนมาก จนทำให้ระบบนิเวศบริเวณปากอ่าวเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอาจมีสารพิษ หรือสารเคมีจากทางตอนบนต้นน้ำที่ถูกชะล้าง หรือปล่อยปนเปื้อนลงมากับน้ำและถูกระบายผ่านเข้ามา ทำให้ปลาตีนทั้งฝูงที่เคยเข้ามาอาศัยอยู่ภายในบริเวณบ้านตายหมดทั้งฝูง รวมถึงสัตว์น้ำอื่นๆ เช่น ปู และปลาชนิดอื่นด้วย ที่ต่างพากันตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

“โดยก่อนที่ปลาตีนจะตาย ปลาตีนมีอาการนอนนิ่งซึมเศร้า ไม่ยอมกินอาหาร และจะมีบาดแผลปรากฏขึ้นมาตามลำตัว จากนั้นจะค่อยๆทยอยหายหน้าไปจากที่เคยมีอยู่ชุกชุม บางตัวก็จะขึ้นมานอนเกยตื้นตายให้เห็น แต่บางตัวก็นอนซมจนเน่าตายอยู่แต่ภายในรูนอน ทำให้ในขณะนี้ไม่มีปลาตีนแสนรู้อยู่ในบริเวณนี้ รวมถึงบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงอีกแล้ว”

นายปรีชา ยังเผยอีกว่า ส่วนปลาตีนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นปลาตีนที่ตัวเล็ก จากเดิมที่มีขนาดลำตัวใหญ่ประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร แต่ฝูงใหม่ที่เพิ่งเข้ามาอยู่นั้น มีขนาดเล็กกว่าเก่าถึงกว่า 1 เท่าตัว และยังมีนิสัยปราดเปรียว ขี้ตกใจ ตื่นคนง่าย

ขณะที่ที่ผ่านมายังคงมีนักท่องเที่ยวที่เคยมาท่องเที่ยวแล้ว และชื่นชอบได้พากลุ่มเพื่อนฝูงที่ยังไม่เคยเห็นปลาตีนแสนรู้เข้ามาขอดูแต่ก็ต้องผิดหวังกลับไป

“หลังจากที่มีน้ำจืดไหลลงมามาก ทำให้ปลาทะเลที่เคยอาศัยอยู่ใกล้แนวชายฝั่งหายไปจากพื้นที่บริเวณนี้จนหมด โดยเฉพาะปลาดุกทะเล ซึ่งเป็นอาหารที่ฝูงโลมาชื่นชอบ ก็ไม่ยอมเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ทำให้ฝูงโลมาไม่เข้ามายังบริเวณปากอ่าวบางปะกง เนื่องจากไม่มีอาหาร แต่ก็ยังสามารถพบเห็นได้บ้างในบางโอกาสที่น้ำมีสภาพดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ไกลจากฝั่งมากนับ 10 กิโลเมตร ทำให้การเที่ยวชมโลมาบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงซบเซาไปอย่างมาก” นายปรีชา กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น